xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ย้ำนโยบายการเงินเหมาะสมเน้นหลัก outlook dependent เฟดลดดอกเบี้ยไทยไม่จำเป็นต้องลดตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ธปท. ย้ำการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ กนง.เน้นพิจารณาปัจจัยภายในประเทศ 3 ด้าน จีดีพี เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด เน้นหลัก outlook dependent เหมาะสมและถูกต้องแล้ว รับค่าบาทผันผวนมากกว่าหลายประเทศ เพราะมีปัจจัยเฉพาะทองคำปรับขึ้น พร้อมติดตามสถานกรณ์ค่าบาทอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้ค่าบาทเป็นไปตามกลไกตลาด เน้นดูแลค่าบาทไม่ให้ผันผวนจากปัจจัยที่ผิดปกติ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ระดับ 0.50% โดยมองว่า ตลาดได้คาดการณ์ไว้แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งเฟดลดดอกเบี้ยลงที่ระดับ 0.50% เป็นระดับที่แรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งผลกระทบต้องมีต่อเศรษฐกิจและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับผลของการลดดอกเบี้ยของเฟดต่อเศรษฐกิจไทยหลักๆ มาจากฝั่งตลาดเงินและค่าเงิน โดยพบว่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นหลังจากที่เงินดออลาร์อ่อนค่าลง ขณะที่ราคาทองได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าเงินของไทยเป็นค่าเงินที่เกี่ยวโยงกับทองสูงกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาจากภายในประเทศเป็นหลัก โดยจะพิจารณาใน 3 ปัจจัย คือ การเติบโตของเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เริ่มขยับเข้ากรอบ และ เสถียรภาพการเงิน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ ธปท.ต้องพิจารณาให้ครบทุกด้านทุกมิติ

“การที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้หมายความว่าไทยจะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายด้วย แต่การที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เข้ามากระทบกับปัจจัยหลายอย่างที่เราต้องคำนึงถึงในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย โดยปัจจุบันเราใช้หลัก outlook dependent ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นว่าภาพในการประเมินเศรษฐกิจแตกต่างจากที่มองไว้ มีแค่เรื่องเสถียรภาพการเงินที่ให้ความสำคัญมากขึ้นเป็นพิเศษเพราะเห็นเรื่อง credit risk ที่สูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลงในวงที่กว้างขึ้นกว่าเดิม” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว

การดำเนินนโยบายของ กนง.ใช้หลัก outlook dependent เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมและถูกต้องแล้ว เห็นได้จากที่ประเทศอื่นที่เน้นการทำ data dependent ซึ่งสร้างผลกระทบต่อตลาดค่อนข้างมาก เพราะข้อมูลเศรษฐกิจออกมาเร็ว มีการเปลี่บนแปลงตลอดเวลา จะมีความผันผวนและหวือหวามาก ไม่ให้การคาดการณ์เรื่องนโยบายไปซ้ำเติมความผันผวน การกำหนดนโยบายตอบสนองกับข้อมูลล่าสุดอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กนง.จึงพิจารณาเรื่องแนวโน้มเป็นหลัก ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปยังเป็นไปตามกำหนดเดิมวันที่ 16 ต.ค.2567 ยังไม่มีกำหนดการประชุมเป็นกรณีพิเศษจากการปรับดอกเบี้ยของเฟด แต่หากมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องประชุมเป็นพิเศษก็สามารถทำได้

“ดอกเบี้ยเป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือที่มี ธปท.ใช้เครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการทำงาน เป็น policy mix เรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งในมาตรการที่ทำ เช่น การลดภาระหนี้คน กลุ่มเปราะบาง การลดดอกเบี้ย ผลอาจไม่ได้มากเท่าปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการ ดอกเบี้ยเป็นยาที่กระทบวงกว้างหลายด้าน การใช้ยาเฉพาะจุด ตรงจุด จะเหมาะสมกว่า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว 


สำหรับค่าเงินบาทไทยแข็งค่าค่อนข้างเร็ว มีความผันผวนมากกว่าหลายประเทศ โดยปีนี้บาทแข็งค่าไปแล้ว 3.1% (year to date) แต่ไม่ได้ผันผวนมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีสกุลเงินอื่นผันผวนมากกว่าไทย เช่น มาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบกับทั่วโลก แต่ในไทยนั้นมีปัจจัยเฉพาะเพิ่มเข้ามา คือ ราคาทองคำ ที่เงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วผันผวนจากการเก็งกำไรค่าเงิน หรือ hot money ซึ่งทำให้ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นโดยไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง ที่ปัจจุบันยังไม่เห็นเงินที่ไหลเข้ามาอย่างผิดปกติ

ภาพรวมเงินทุนในปีนี้ การไหลออกน้อยกว่าปีก่อน ปีก่อนการไหลออก 9.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์ และ ปีนี้ประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์ แต่ช่วงหลัง เป็นการไหลเข้ามาจากปัจจัยของโลก และปัจจัยเฉพาะของไทย เช่น ความชัดเจนทางด้านการเมือง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทกับทองคำมีสูงกว่าความสัมพันธ์ของทองคำกับค่าเงินสกุลเงินอื่น ความผันผวนของค่าเงินยังเป็นปัจจัยที่ ธปท.ติดตามใกล้ชิด” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น