xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำต้องมีอิสระดำเนินนโยบาย มองแก้หนี้ครัวเรือนมองสั้นสร้างภาระให้ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.” ระบุปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลที่มองสั้น เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนเกินไป ส่งผลให้เกิดหนี้ระยะยาว เป็นภาระในอนาคต ย้ำบทบาทธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน BOT SYMPOSIUM 2024 (หนี้ : The Economics of Balancing Today and Tomorrow) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหามากมายในระดับต่างๆ ในระดับบุคคล หนี้ครัวเรือนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 50% เป็น 90% ต่อ GDP ซึ่งมาพร้อมกับภาวะการเงินของครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน 38% ของคนไทยมีหนี้ในระบบ มีปริมาณหนี้เฉลี่ยคนละ 540,000 บาท และส่วนใหญ่มีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ครัวเรือนบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่ต้องก่อหนี้ในช่วงที่ขาดรายได้จากวิกฤตโควิด กำลังเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เนื่องจากรายได้อาจยังไม่ฟื้นตัวดี ในขณะที่มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ

ในระดับประเทศ ไทยประสบปัญหาการลงทุนที่ต่ำต่อเนื่องมายาวนาน การลงทุนโดยรวมของไทยจากที่โตเฉลี่ย 10% ต่อปีก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 เหลือเพียง 2% ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในภาคอุตสาหกรรมไทย มีบริษัทเพียงไม่ถึง 3% ที่ลงทุนใน R&D ทำให้การลงทุนในด้านนี้ของไทยยังต่ำเพียงประมาณ 1% ของ GDP เทียบกับเกาหลีใต้ที่สูงถึง 5% ของ GDP

ในระดับโลก กำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Meteorological Organization) ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

การดำเนินนโยบายและตัดสินใจเชิงนโยบายที่มองระยะสั้นเกินไป จะสร้างต้นทุนให้ประเทศจำนวนมหาศาล จำเป็นต้องสำรวจ ศึกษานโยบายต่างๆ และหากดูแล้วไม่เหมาะสม ประชาชนสามารถเรียกร้องผ่านกลไกประชาธิปไตยได้ ประเทศไทยในอดีตมีแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากจนเกินไป เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร ทำวงกว้างและต่อเนื่องยาวนานไป ส่งผลให้ลูกหนี้ 60% เป็นหนี้เรื้อรังและผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง การลงทุนต่ำของภาคธุรกิจ และระบบตลาดที่ไม่แข่งขัน ธุรกิจเล็กขาดแรงจูงใจที่จะลงทุน ภาครัฐไม่เอื้อโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมภาคธุรกิจ การเงินไม่เอื้อภาคธุรกิจ ไม่เกิดการลงทุนเท่าที่ควร ปัญหาหนี้ต้องแก้ 2 ส่วน 1.ข้อจำกัดในปัจเจก ต้องลดอคติ ควรส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ 2.ในส่วนของสถาบันที่ไม่เอื้อ ต้องแก้กฎกติกาใน 3 ด้าน ด้านเศรษฐกิจ ต้องทำให้ต้นทุนธุรกิจสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ด้านสังคม ต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การเมืองต้องมีระบบถ่วงดุลที่ดี

ธนาคารกลางทั่วโลก มีพันธกิจที่คล้ายคลึงกันคือ ไม่เพียงต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัว แต่ต้องเสริมสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งต้องอาศัยเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญ ธนาคารกลางจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องให้น้ำหนักกับเสถียรภาพในระยะยาว ถึงแม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถทำได้ผ่านการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้รวดเร็วในระยะสั้น แต่มักต้องแลกมาด้วยภาวะเงินเฟ้อ และอาจเป็นการสะสมความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจจากการก่อหนี้เกินตัวหรือพฤติกรรมเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะ ฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาวหรือนำไปสู่วิกฤตร้ายแรงได้

หน้าที่ในการ “มองยาว” ของธนาคารกลางจึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว หลายๆ ครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้างและย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพออาจทำให้เสียหลักการของการ “มองยาว” ได้ งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา ตัวอย่างงานวิจัยของ IMF ในปี 2023 พบว่า ประเทศที่ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดีกว่าและประสบความสำเร็จในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการในหลายๆ ด้านเพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่คำนึงถึงเสถียรภาพเป็นสำคัญ โดยใช้ policy mix ที่เหมาะสม รวมถึงการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันต้องไม่เอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงเชิงระบบ การออกมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อยกระดับมาตรฐานของสถาบันการเงินให้มีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ตลอดวงจรของการเป็นหนี้ และส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีวินัยทางการเงิน อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน และการพัฒนาระบบการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อสนับสนุนครัวเรือนและธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่

“การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางต้องมาพร้อมกับความเป็นอิสระในการทำงาน แม้ต้องสวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ถ้าไม่อิสระ จะเสียหลักการการมองยาว ปัญหาหนี้ของประเทศหลายมิติ ปัญหามาจาก 2 ด้าน ด้านแรกทุกยุคสมัยนโยบายรัฐมักจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของอนาคต ไม่ใช่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ปัญหาคือเมื่อทำไปแล้วทางการเมืองคือต้องการได้รับการคัดเลือกให้กลับเข้ามานั่งทำงานอีก การแก้หนี้จะใช้ยาที่ครอบจักรวาลไม่ได้ มันต้องใช้เฉพาะจุด ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยปัญหาหนี้คงไม่ใช่ทางออก ควรใช้กลไกของการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดจะมีความเหมาะสมมากกว่า” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น