นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ก.ย.) ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (กรอบการเคลื่อนไหว 33.06-33.41 บาทต่อดอลลาร์) แต่โดยรวมเป็นทิศทางการอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก เข้าใกล้แนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาทองคำ หลังที่ประชุม FOMC ของเฟดมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (11 ต่อ 1) ให้ลดดอกเบี้ย -50bps สู่ระดับ 4.75-5.00% ตามที่ตลาดคาด
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ใหม่ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างที่ตลาดคาดหวัง อีกทั้งประธานเฟดยังได้เน้นย้ำว่า การเร่งลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบ Soft Landing ได้ (ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Economic Recession) และช่วยให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพได้ โดยมุมมองดังกล่าวของประธานเฟด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงกว่า -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้สุดท้ายเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญหลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00% ตามเดิม ทว่า BOE อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงเข้าใกล้เป้าหมายของ BOE มากขึ้น ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้การลดดอกเบี้ยของ BOE ไม่ได้เร่งรีบมากนัก อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE เพราะหาก BOE ประเมินภาพเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงมากขึ้น หรือดูแย่กว่าคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยชัดเจนอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงอ่อนค่าลงได้บ้าง
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ และข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด (ว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยได้จริง ตาม Dot Plot ใหม่หรือไม่)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินอาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นได้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ทำให้ในช่วงระยะสั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ จะมีแนวต้านถัดไปแถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอย่างฝั่งผู้ส่งออกอาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้างในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนของเงินบาทได้บ้าง
ทั้งนี้ เรามองว่าควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE ที่อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง หาก BOE มีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (ตลาดมอง BOE จะลดดอกเบี้ยราว -50bps ในปีนี้)