กูรูคริปโตเมืองไทย ชูบิทคอยน์เป็นทางเลือกแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ เงินออมด้อยค่า มองอนาคต เป็นทางเลือกใหม่ของระบบการเงินไทย
เหล่าผู้คลั่งไคล้บิทคอยน์และนักลงทุนคริปโต นัดรวมพลผ่านงาน Thailand Bitcoin Conference 2024 หรือ TBC2024 ภายใต้แนวคิด “Bitcoin Fixes This” หวังให้บิทคอยน์เป็นเงินออมเปลี่ยนโลก หรือ “Bitcoin makes saving great again ” โดยไม่หวั่นความผันผวนที่ขึ้นลงแรง
วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ก่อตั้ง Chitbeer กล่าวในงานสัมมนาว่า “ในอดีตการออมเงินเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหลักประกันในอนาคต วันนี้โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ไม่ได้เกิดเงินออม แต่เกิดขึ้นจากเงินที่ปั๊มขึ้นมาใหม่ การออมเงินจึงเป็นเรื่องยากลำบากขึ้น อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อ กดค่าเงินลดลง กระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันนี้ "เงินเฟ้อ" คือจำเลยตัวสำคัญ ที่ขโมยความมั่งคั่งของผู้คนไปอย่างเงียบ ๆ
ขณะที่โลกพัฒนาขึ้น แต่ผู้คนเป็นหนี้เพิ่ม เพราะเงินด้อยค่า การแสวงหาทางเลือกที่มีผลตอบแทนสูงในการลงทุนของประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ต้องเจอกับความเสี่ยงที่สูง การลงทุนหลายจึงมีลักษณะไม่ต่างจากการพนัน
"บิตคอยน์" มีศักยภาพในการสร้างองค์กรสายพันธุ์ใหม่ สามารถสร้างเครือข่ายมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 12 ปี และเชื่อว่าในอนาคต bitcoin จะเป็น Generational Wealth ต่อไป"
ณปภัช ปิยไชยกุล ยูทูปเบอร์ชื่อดังช่อง The BIG Secret และ พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท โฉลก ดอท คอม ให้ความเห็นว่า “ระบบสังคมการเงินปัจจุบันไม่สามารถสร้างความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน เพราะสืบต่อการเงินแบบเดิมที่มุ่งเน้นการสร้างเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ ทำให้เงินเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว และเงินออม ก็เสื่อมมูลค่าไปตามกาลเวลา
ความหวังลมๆแล้งๆ คือผู้คนจำนวนมากเอาเงินเก็บมาลงทุน ซึ่ง 99% ของคนในตลาดทุน มักขาดทุน แต่ทุกคนก็หวังจะเป็น 1% ในการเอาชนะตลาดได้ เงินที่เก็บมามักหายไปในตลาดการลงทุน
บิทคอยน์ จะแก้ปัญหาได้อย่างไร ?
ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าบิทคอยน์มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้าน มีอัตราการผลิตคงที่ และเกิดใหม่น้อยลงทุก ๆ ปี จากเริ่มต้นที่คาดเดา 50 บิทคอยน์ ทุก 10 นาทีลดลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ 4 ปี จนถึง ปี 2140 แล้วหมดการผลิต จุดยืนของการกำเนิดที่กำหนดนโยบายทางการเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เชื่อว่าการเก็บบิทคอยน์ระยะยาว ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งกำไรมากขึ้น บิทคอยน์จะเป็นแสงสว่างรออยู่ที่ปลายอุโมงค์ของเงินเก็บเมื่อเกษียณ
สินทรัพย์ดิจิทัลสายพันธ์ใหม่ที่จับต้องไม่ได้
ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา ชํานาญการพิเศษ ประจำกองกฎหมายการเงิน การคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และทิพย์สุดา ถาวรามร และ คณะกรรมการ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ที่ปรึกษา บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด คณะกรรมการ Finnomena และนายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ร่วมให้มุมมองว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ บิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย มีวิวัฒนาการมาต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุน ICO (Initial Coin Offering) การระดมทุนผ่านการออกเหรียญดิจิทัลใหม่ ๆ โดยกระแสที่ปลุกการลงทุนในคริปโตเกิดขึ้นในไทยเมื่อราคาบิทคอยน์มีราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 10,000 ดอลลาร์ ได้สร้างความสนใจให้กับนักลงทุนไทยเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐบาลต้องกลับมาตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้และข้อมูลที่โปร่งใสแก่ประชาชนเกี่ยวกับสินทรัพย์ประเภทนี้
ในช่วงแรก การลงทุนในบิตคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านผู้ให้บริการหรือตัวกลางตัวกลาง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความจำเป็นในการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลกิจกรรมเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายหลักทรัพย์มาใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่มีลักษณะที่ชัดเจนว่าเป็นตราสารหรือไม่ กฎหมายจึงมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนผ่านการออกเหรียญดิจิทัลใหม่ ๆ มากกว่า
สำหรับการซื้อขายบิทคอยน์เพื่อการลงทุนส่วนบุคคลนั้น กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ก็ยังไม่มีการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้บิทคอยน์ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ มีสถานะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีการซื้อขายหรือโอนสินทรัพย์เหล่านี้ จะต้องมีการชำระภาษีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง
ปัจจุบัน Bitcoin ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ อย่างต่อเนื่อง เช่น Bitcoin ETF ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับบิทคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้เก็งกำไรในการลงทุน กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในระบบการชำระเงิน
อนาคตของบิทคอยน์และสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีความน่าสนใจ โดยภาครัฐมีบทบาทในการกำกับดูแล อาจต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะความเสี่ยงสูงที่เกิดขึ้น
“กลยุทธ์การลงทุนบิทคอยน์ในอนาคต”
โฉลก สัมพันธารักษ์ หรือ ลุกโฉลก ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท CDC ChalokeDotCom และพิริยะ สัมพันธารักษ์ บุตรชาย ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท โฉลก ดอท คอม ให้ความเห็นว่า "ความโลภ ที่ไม่รู้จักพอ ทำให้ไม่มีความสุข เมื่อรู้จักพอ ชีวิตก็จะมีความสุข" จุดเชื่อมโยงทั้งมวลคือ “เงิน” เพราะไม่รู้ว่าเงินมันเสื่อมค่าไปเท่าไหร่ เมื่อความมั่นใจไม่มี ไม่ว่าเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ
"กลยุทธ์การลงทุนบิทคอยน์ในอนาคต 5-10 ปี จะแบ่งเป็น 2 สาย คือออมทรัพย์การลงทุนและการเล่นเก็งกำไร ซึ่งควรแบ่ง Mindset 90% Money Management 9% และเป็น Trading Strategy 1% การลงทุนก็จะเห็นกำไรมากขึ้น ซึ่งก็หวังว่า Community Bitcoin ในอนาคตจะโตขึ้นกว่านี้"