ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 17-18 ก.ย. นี้ เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25% หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้มีการส่งสัญญาณในการประชุมแจ็กสัน โฮลว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องลดดอกเบี้ย ท่ามกลางตัวเลขเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลงสู่เป้าหมายที่ 2.0% โดยเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ เดือน ส.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5% YoY ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 2.6% YoY เล็กน้อย ประกอบกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ สะท้อนภาพอ่อนแรงลง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดที่ 142,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างเดือน ส.ค. อยู่ที่ 4.2%
นอกจากนี้ มองว่าเฟดอาจส่งสัญญาณผ่าน Dot Plot ปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือในเดือน พ.ย. และ ธ.ค.ของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.50-4.75% ณ สิ้นปี 2567 เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ภาวะ ‘Soft landing’ มากกว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยลดลงสู่ระดับเป้าหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค. ล่าสุดยังคงเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ดังนั้น จึงมองว่ายังคงไม่มีความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรงถึงครั้งละ 0.50% ในการประชุมครั้งที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าตลาดส่วนใหญ่มองว่าเฟดมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถึงครั้งละ 0.50% ในการประชุมเดือน พ.ย. หรือ ธ.ค.นี้
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ได้อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์กว่า 5.0% นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมองไปข้างหน้า ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ และค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนไปตามข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมา
นอกจากนี้ ในการประชุม FOMC ในเดือน ก.ย. นี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเฟดอาจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2567 ลงจากประมาณการรอบที่แล้ว โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ราว 2.4% ในปีนี้ ซึ่งในไตรมาส 4/2567 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2.1% YoY ที่เฟดคาดการณ์ไว้ในประมาณการเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากการใช้จ่ายผู้บริโภคที่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้