กองทุน bitcoin ETF ในของสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะความเสี่ยงขาลง หลังกระแสเงินทุนไหลออกสุทธิรายวันติดต่อกันยาวนานที่สุด นับตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุน หลีกเลี่ยงการลงทุนสินในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ส่งผลต่อทิศทางภาคเศรษฐกิจมวลรวมของโลก และวิกฤติการว่างงานในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนฟองสบู่อสังหาฯ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นักลงทุนได้ถอนเม็ดเงินลงทุนเกือบ 1.2 พันล้านดอลลาร์ออกจากกองทุน Bitcoin ETF จำนวน 12 แห่งในสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 8 วัน จนถึงวันที่ 6 ก.ย. โดยการถอนเม็ดเงินออกจากกองทุนดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่ตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลงอย่างหนัก ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
โดยตัวเลขจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดในสหรัฐฯ และข้อมูลที่บ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินฝืดในจีน ซึ่งกระทบโดยตรงต่อตลาดอสังหาฯ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและบรรยากาศการซื้อขายในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 142,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 164,000 ตำแหน่ง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค.ของจีนปรับตัวขึ้น 0.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7%
อย่างไรก็ดี การที่ราคาบิทคอยน์เผชิญกับแรงกดดันในเดือน ก.ย. โดยราคาร่วงลงราว 7% แม้ว่าในเวลาต่อมา ราคาบิทคอยน์กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และปรับตัวขึ้นราว 1% แตะที่ระดับ 54,870 ดอลลาร์ ณ เวลา 13.00 น.ตามเวลาสิงคโปร์ในวันนี้ (9 ก.ย.)
ทั้งนี้ นางแคโรไลน์ มอรอน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ออบิต มาร์เก็ตส์ ออกมาประเมินว่า ราคาบิทคอยน์จะเคลื่อนไหวในช่วง 53,000-57,000 ดอลลาร์ จนกว่าสหรัฐฯ จะเปิดเผยดัชนี CPI ในวันพุธนี้ (11 ส.ค.) โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)