นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (10 ก.ย.) ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.83-33.98 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวนด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทรงตัวเหนือระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเข้าใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชียผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนจากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานของอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราการเติบโตของค่าจ้าง และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ซึ่งหากตลาดแรงงานอังกฤษส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้นชัดเจน อาจเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะสามารถเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ได้
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเราจะมั่นใจได้มากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ชัดเจน (ซึ่งจะเป็นการยืนยันสัญญาณเชิงเทคนิคัลของการกลับตัวอ่อนค่าลง หากประเมินจากกราฟรายวันของ USDTHB) อนึ่ง ในช่วงวันนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.50 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงวันพุธนี้ ทั้งนี้ เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนและอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ราว 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจไม่รีบลดดอกเบี้ย เท่ากับบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะเฟด (The Most Hawkish Major Central Banks) ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น หากข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งอาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง