xs
xsm
sm
md
lg

TIDLOR ยกระดับสู่ Holding Company

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เงินติดล้อเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรสู่ Holding Company ด้วยการตั้ง "ติดล้อ โฮลดิ้ง" คาดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมด้วยการแลกหุ้นอัตราส่วน 1:1 ไตรมาส 4 ปีนี้ มั่นใจโครงสร้างใหม่ดันกำไรเพิ่ม-ต้นทุนลด แถมทำให้จ่ายปันผลสูง พร้อมลุยธุรกิจประกันเต็มสูบ

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 100,000 ล้านบาท และถือเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกัน ภายใต้เจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัยได้เพิ่มขึ้น จึงได้บุกเบิกธุรกิจในรูปแบบบริการผ่อนเบี้ยประกันรถยนต์ด้วยเงินสด 0% ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นสิ่งที่ประชาชนรับรู้ถึงประโยชน์และเกิดเป็นความต้องการกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานและบริการที่ธุรกิจนายหน้าประกันทั่วไป หันมานำเสนอบริการในรูปแบบดังกล่าวให้ลูกค้าของตัวเองในวงกว้าง

ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทมีสัดส่วนธุรกรรมจากลูกค้าที่ซื้อประกันสูงกว่าการขอสินเชื่อราว 3 เท่าและ 9 ใน 10 ของกรมธรรม์ที่ขายเป็นการขายให้แก่ลูกค้าที่เจาะจงเข้ามาซื้อประกันโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกับลูกค้าสินเชื่อ สะท้อนถึงความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 47.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจประกันวินาศภัยที่เติบโตเฉลี่ยเพียง 4.5% ต่อปี หรือเปรียบได้ว่าภาพรวมธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทเติบโตมากกว่าภาพรวมตลาดถึง 10 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี


นาฝ.ส.อาฑิตยา พูนวัตถุ ผู้บริหารด้านธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมียอดเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่า 4,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีช่องทางการขายและให้บริการที่ครอบคลุม ทั้งในรูปแบบ Face to Face ผ่านช่องทางสาขาเงินติดล้อทั่วประเทศผสมผสานเข้ากับการใช้เทคโนโลยีด้านนายหน้าประกันภัย (InsurTech Platform) ซึ่งบริษัทได้สร้าง พัฒนา และใช้เทคโนโลยีด้านประกันมามากกว่า 10 ปี ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันได้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ดังนี้

1.แบรนด์ “ประกันติดโล่” (ชื่อเดิม ประกันติดล้อ) ธุรกิจนายหน้าประกันในรูปแบบ Face to Face ซึ่งถือเป็นเบอร์ 1 ด้านการให้คำปรึกษาและเสนอขายประกันอย่างใกล้ชิดผ่านนายหน้าผู้เชี่ยวชาญกว่า 5,000 คน จากช่องทางสาขามากกว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมทั้ง รถยนต์ คน และบ้าน จากบริษัทประกันพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 15 แห่ง พร้อมทางเลือกการผ่อนค่าเบี้ยประกันด้วยเงินสด 0% ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จเกิดจากการใช้เทคโนโลยี Insurance on Tablet ซึ่งบริษัทได้สร้างและพัฒนาขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการทำงานให้พนักงานในทุกสาขาทั่วประเทศ ให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขความคุ้มครองด้านประกันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัจจุบัน “ประกันติดโล่” ถือเป็นนายหน้าประกันที่รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้ารายย่อย ที่ต้องการคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากนายหน้ามืออาชีพได้เป็นอย่างดี

2.แบรนด์ “อารีเกเตอร์” (Areegator) แพลตฟอร์มเสนอขายประกันออนไลน์ ผ่านสมาชิกตัวแทนนายหน้าประกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “จริงใจ เข้าใจ เติบโตไปพร้อมกัน” ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีประกันภัย (Insurtech) เข้ามาช่วยสนับสนุนสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 9,000 คน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถเข้าถึงระบบบริหารจัดการงานขายประกันที่สะดวก และผลิตภัณฑ์ประกันที่หลากหลาย นำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันครอบคลุมทั้งรถยนต์ คน และบ้าน จากบริษัทประกันพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 15 แห่ง โดยไม่ต้องมีเงินทุนตั้งต้น รวมถึงยังสามารถนำเสนอบริการผ่อนเบี้ยประกันด้วยเงินสด 0% ให้ลูกค้าได้ โดยไม่ต้องสำรองเงินของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งจากการเปิดโอกาสให้สมาชิกสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการแนะนำสินเชื่อทะเบียนรถให้ลูกค้าที่อยู่ในละแวกชุมชนของตัวเองได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการผสมผสานทั้งธุรกิจสินเชื่อและนายหน้าประกันเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

ทั้งนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานของอารีเกเตอร์ในปี 2567 จะมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตและคาดว่าจะมีเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นกว่า 19 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ นอกจากนี้ สมาชิกอารีเกเตอร์ยังมีรายได้โดยเฉลี่ยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2566 สมาชิกได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 150,000 บาทต่อคน ซึ่งการที่สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และเติบโตไปด้วยกัน ยังเป็นเป้าหมายหลักของอารีเกเตอร์ ทั้งนี้ “อารีเกเตอร์” ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Software-as-a-Service (SaaS) ถือเป็นแพลตฟอร์มเสนอขายประกันออนไลน์ ที่ให้บริการผ่านสมาชิกนายหน้าประกันภัย หรือนักขายอิสระเพื่อขยายตลาดลงลึกเข้าไปในระดับชุมชนขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

3.แบรนด์ “เฮ้กู๊ดดี้” (heygoody) คือแพลตฟอร์มนายหน้าประกันดิจิทัลโดยเฉพาะ ที่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่มลูกค้าประกันรายย่อยที่ไม่ชอบการถูกรบกวนทางโทรศัพท์ และต้องการเลือกซื้อประกันด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรับความคุ้มครองทันที โดยลูกค้าสามารถเปรียบเทียบเบี้ยและเงื่อนไขการรับประกันได้ด้วยตัวเองจากบริษัทประกันพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 15 แห่ง พร้อมทางเลือกในการชำระค่าเบี้ยด้วยการผ่อนเงินสดพร้อมดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 10 เดือน มีทั้งแบบผ่อนเท่ากันทุกเดือนหรือผ่อนสดงวดแรกเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท นอกจากนี้ยังสามารถผ่อนค่าเบี้ยประกันด้วยบัตรเครดิตได้อีกด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มครองที่ตรงใจ ราคาเหมาะสม และสะดวกสบาย รวมถึงมีการออกแบบ Platform ที่ใช้งานง่าย (User Friendly) เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากความเข้าใจกลุ่มลูกค้า รวมถึงการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนายหน้าที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงทำให้เราสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาขึ้นเป็น heygoody ได้ในระยะเวลาอันสั้น

ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการในช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา “เฮ้กู๊ดดี้” ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์มากกว่า 2 ล้านคน และจากข้อมูลเชิงลึกพบว่า ลูกค้ามากกว่า 40% ซื้อประกันในช่วงนอกเวลาทำการ และผลการสำรวจความพึงพอใจพบว่าลูกค้ามากกว่า 96% พึงพอใจในการเข้ามาใช้บริการกับ “เฮ้กู๊ดดี้” นับเป็นภาพสะท้อนของความสำเร็จสำหรับโบรกเกอร์ประกันออนไลน์เจ้าใหม่ในตลาดที่สามารถเข้ามาอยู่ในใจของลูกค้าและยังตอกย้ำถึงความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2567 นี้ยังสามารถคว้ารางวัลในด้านการทำแพลตฟอร์มและการทำโฆษณาที่ตอบโจทย์ธุรกิจและลูกค้ากว่า 12 รางวัลในระดับเอเชีย และระดับโลก โดยบริษัทยังคงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจนายหน้าประกัน คัดเลือกประกันที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ “เฮ้กู๊ดดี้” ถือเป็นแพลตฟอร์มนายหน้าประกันดิจิทัลที่ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานขายทางโทรศัพท์ (Telesales)

นายปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่าพรวมธุรกิจนายหน้าประกันในประเทศไทยมีสัดส่วนการซื้อประกันผ่านช่องทางนายหน้าสูงถึง 73% เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ และยังมีจำนวนนายหน้าประกันอิสระในประเทศไทยมากกว่า 80,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายหน้ารูปแบบดั้งเดิมที่อาจมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยมียอดเบี้ยประกันรวมในตลาดมูลค่ากว่า 285,000 ล้านบาท แต่บริษัทนายหน้าประกันเจ้าหลัก 10 อันดับแรก มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเพียง 29% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าธุรกิจนายหน้าประกันยังไม่มีผู้ครอบครองหลัก นอกจากนี้ ข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนในประเทศไทยมีจำนวน 19.8 ล้านคัน แต่มากกว่า 46% ยังไม่ได้ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของตลาดได้อีกมาก ผนวกเข้ากับความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการขยายและสร้างการเติบโต รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่ยังมีอยู่อีกมากในอนาคต

จากผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่จากแบรนด์ “อารีเกเตอร์” (Areegator) และแบรนด์ “เฮ้กู๊ดดี้” (heygoody) ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น บริษัทวางแผนจะปรับโครงสร้างพร้อมจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจนายหน้าประกัน มุ่งสู่ผู้นำด้านInsurTech Platform ที่จะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเติมเต็ม TIDLOR Ecosystem เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านการเงินและประกันภัยที่แข็งแกร่งให้ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทด้วยเป้าหมายสูงสุดในการเป็นที่พึ่งทางด้านการเงินและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัยได้ทั่วถึง ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) บริษัทได้มีการสื่อสารเรื่องแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการโดยได้มีการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ คือ บริษัท ติดล้อ โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) (“ติดล้อ โฮลดิ้งส์”) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) เพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มบริษัท โดยภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ จะสามารถลดความสับสนของนักลงทุนจากการจ่ายหุ้นปันผล โดยจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ่ายเงินปันผลในรูปแบบเงินสด รวมถึงการลดความสับสนของนักลงทุนเกี่ยวกับราคาหุ้น (Dilution) และกำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นใจในศักยภาพของบริษัทให้กับนักลงทุนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว เนื่องจากจะเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านสินเชื่อและนายหน้าประกัน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นและยังช่วยเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการหรือการร่วมลงทุนอีกด้วย โครงสร้างแบบ Holding Company จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มบริษัทในระยะยาว โดยจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการหรือการร่วมลงทุน

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ในอนาคต โดยบริษัทจะทำการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยในรูปแบบ InsurTech Platform ได้แก่ แบรนด์ “อารีเกเตอร์” (Areegator) และแบรนด์ “เฮ้กู๊ดดี้” (heygoody) รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัทใหม่ ภายหลังจากที่หุ้นสามัญของติดล้อ โฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหลังจากการโอนธุรกิจที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วเสร็จ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 โดยการจัดตั้งบริษัทใหม่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการองค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละธุรกิจ และเพื่อให้มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารและจำกัดความเสี่ยงของแต่ละธุรกิจที่มีลักษณะต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ส่งผลให้สถานะของการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทเป็น Holding Company ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ โดยคาดว่า ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท (Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นเดิมโดยวิธีการแลกหุ้นที่อัตรา 1:1 ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ สำหรับผู้ถือหุ้น นักลงทุนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของบริษัทได้ที่เว็บไซต์ www.tidlorinvestor.com


กำลังโหลดความคิดเห็น