xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.27 แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ก.ย.) ที่ระดับ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.20-34.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักอีกครั้ง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตเดือนสิงหาคม ที่แม้จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.2 จุด (ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 47.5 จุด) แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ เป็นเดือนที่ 5 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถรีบาวนด์ขึ้นได้บ้างเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ท่ามกลางภาวะผันผวนและปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทเริ่มเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลที่ชี้ว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่านั้นมีกำลังมากขึ้น โดยเรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง และอาจอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ หากบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในช่วงนี้ได้กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยราว -5.4 พันล้านบาท และขายสุทธิบอนด์ไทยราว -1.8 พันล้านบาท) ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ชัดเจน จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบ ที่อ่อนไหวกับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจและประเด็นกำลังการผลิตอาจกดดันเงินบาทเพิ่มเติมได้ จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบในช่วงการปรับฐาน (Correction) อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากภาวะปิดรับความเสี่ยงในช่วงนี้ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยอาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในช่วงนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ในช่วง 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น