xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 34.08 ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า-เยนร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 33.75-34.50 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ (2 ก.ย.) ที่ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.85-34.10 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์ กดดันโดยส่วนต่างบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับบอนด์ยิลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น หลังบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.90%

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวรับระยะสั้น 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทยอยออกมาดีกว่าคาด ทว่าเงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้ส่งออก และจังหวะซื้อสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ พร้อมจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด BOE และ ECB

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลง แต่ก็มีความเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งมีผลกับทิศทางเงินบาทได้เช่นกันในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์เสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ซึ่งจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ทั้งนี้ ควรจับตาสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก เช่น ECB และ BOE ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางสกุลเงินหลัก ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น