xs
xsm
sm
md
lg

AH ครึ่งปีหลัง 67 ปรับตัวดีขึ้น รายได้ต่างประเทศช่วยชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเมินแนวโน้มธุรกิจ “อาปิโก ไฮเทค” เติบโตตามแนวมโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่อ่อนตัว โดยหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจในประเทศ แต่จะได้ธุรกิจต่างประเทศเข้ามาชดเชย คาดครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีกว่า 6 เดือนแรก และเชื่อราคาผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการหลังการขาย รายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 14,074 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 422 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยความเข้มงวดในการขออนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์และยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีแรก ด้วยยอดขายรถยนต์ลดลงกว่า 24% และยอดการผลิตลดลงกว่า 17% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกปีก่อน

ขณะที่ ในไตรมาส 2/67 บริษัทมีกำไรสุทธิ 103 ล้านบาท และมีรายได้รวม 6,494 ล้านบาท ลดลง 11.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นั่นมาจากกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ทำให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตของรายได้จากธุรกิจในประเทศมาเลเซียและประเทศโปรตุเกส โดยธุรกิจผลิตชิ้นส่วนในโปรตุเกสเติบโต 12.7% ขณะที่การดำเนินธุรกิจในมาเลเซียเติบโต 26.3% จากธุรกิจร่วมทุนผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานต์ร่วมกับพันธมิตรภายใต้บริษัทอาปิโก อาร์วี จำกัด และยอดขายที่เพิ่มของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการรถยนต์

นอกจากนี้ โรงงานผลิตระบบควบคุมไอเสีย Purem AAPICO ที่ได้เริ่มมีการผลิตและส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสก่อน และได้ผ่านจุดคุ้มทุนของการดำเนินธุรกิจ ทำให้พลิกทำกำไร 15 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุหลักที่กำไรมีการปรับตัวลดลง มาจากปริมาณออเดอร์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทยจากสภาพอุตสาหกรรมที่อ่อนตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจ และผลกระทบทางบัญชีจากการลดปริมาณสินค้าคงเหลือในประเทศโปรตุเกส

หนี้ลดช่วยเพิ่มศักยภาพ

“จุดแข็งของอาปิโกในสถานการณ์ปัจจุบันคือเรามีฐานะทางการเงินและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง หลังจากที่ขายธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดียไป บริษัทได้นำเงินสดส่วนหนึ่งมาทยอยลดภาระทางหนี้สิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเป็นจำนวน 4.8 พันล้านบาท หรือ IBD/E ที่ระดับ 0.4 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ระดับ 0.6 ทำให้บริษัทยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว และมีเงินสดเพียงพอสำหรับโอกาสการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต”

ส่วนทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 67 อาปิโกยังคงเดินหน้าทยอยจ่ายคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุน ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงสุด ในขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการมุ่งเน้นหาลูกค้าและออเดอร์ใหม่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยปัจจุบันมีโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่จากโปรตุเกสเข้ามาเพิ่มเติม และจะเริ่มมีการรับรู้รายได้ช่วงประมาณไตรมาส 4/67 นี้

เชื่อปัจจัยลบแค่ระยะสั้น

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ “เย็บ ซู ชวน”ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แสดงความเห็นว่า แม้จะมีการชะลอตัวบ้าง แต่มองว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งในเชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาฟื้นตัว โดยบริษัทผ่านวิกฤติมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้นไม่มีความกังวลแต่อย่างใด และมั่นใจในพื้นฐานและศักยภาพธุรกิจ

นอกจากนี้ AH ยังเดินหน้าในการเจรจาออเดอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของออเดอร์ยานยนต์ไฟฟ้า มีการเจรจาต่อเนื่อง แม้ขณะนี้ยอดขาย EV จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ในส่วนกระแสของไฮบริดก็ได้การพูดถึง มากขึ้น แต่บริษัทก็ยืนยันว่ายังมีศักยภาพ สามารถส่งชิ้นส่วนยานยนต์ได้ทุกแบบ

“ในส่วนของรถEV ยอมรับว่าปัจจุบันยอดขายมีการชะลอตัวลง แต่หลายค่ายรถยนต์ก็มีการสร้างโรงงาน และด้วยเทรนด์ของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ก็เชื่อว่ายอดขายจะกลับมาเติบโตได้ เพราะการสร้างโรงงานก็ใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ขณะเดียวกันบริษัทมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนหรือเข้ามาเสริมในช่วงที่ตลาดในประเทศชะลอตัวได้”

ขณะที่ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ภาพรวมยังเติบโตได้ดี โดยบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี (MG) นอกจากนี้ยังมีฟอร์ด และมิตซูบิชิ อีกทั้งยังได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของ บริษัทฉางอัน ออโตโมบิล ที่มีกระแสตอบรับดี เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการผลักดันการเติบโตของบริษัทด้วย

สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทวางงบลงทุนราว 700-800 ล้านบาท แบ่งเป็น 400 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานใหม่เพิ่มอีก 1 แห่งและซื้อเครื่องจักร เพื่อรองรับคำสั่งซื้อลูกค้ารายใหม่ และเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งมีคำสั่งซื้อสินค้าที่สูง ทำให้กำลังการผลิตในโรงงานเดิมไม่สามารถรองรับได้ โดยจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปี 2568 ส่วนอีก 300-400 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรของบริษัท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัททั้งหมด เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคตต่อไปก่อนหน้านี้ AH รายงานผลประกอบการปี 2566 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 30,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,041 ล้านบาท หรือ 7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้รวม 28,348 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลักไม่รวมกำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน 1,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59 ล้านบาท หรือ 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ทำไว้ 1,704 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในปี 2566 หดตัวลงประมาณ 2% โดยยอดส่งออกรถยนต์เติบโตประมาณ 12% ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยลดลงประมาณ 9% โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยที่ชะลอตัว ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะรถกระบะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก


ราคาหุ้นสะท้อนไปหมดแล้ว

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุถึง AH ว่า ผลการดำเนินงานของธุรกิจในแต่ละประเทศปีนี้อาจจะดูไม่น่าตื่นเต้น โดยในส่วนของประเทศไทย (สัดส่วน 64% ของรายได้รวม) น่าจะโตได้ในระดับเลขตัวเดียวต่ำๆ เท่านั้น สอดคล้องกับยอดผลิตรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ในประเทศ

ขณะที่มาเลเซีย (สัดส่วน 14%) อาจจะหดตัวลงหลังจากที่ยอดขายรถในประเทศถึงจุดสูงสุดติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว ส่วนจีน (สัดส่วน 5%) น่าจะโตได้ในระดับเลขตัวเดียวเท่านั้น และโปรตุเกส (สัดส่วน 16%) น่าจะเติบโตได้แข็งแกร่งที่สุด เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ ใหม่เข้ามา แต่อาจจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะต้นทุนการดำเนินงานสูง
ดังนั้น จึงยังคงประมาณการกำไรปี 2567 ของ AH เอาไว้ที่ 1.7 พันล้านบาท (ลดลงจากปีที่แล้ว 1%YoY) ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการบางรายการ อย่างเช่น รายได้/ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในเครือจากการขาย SAKTHI

อย่างไรก็ตามแม้ว่า AH จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น โดยเฉพาะในไตรมาส 1/2567 เมื่อเทียบกับที่ทำสถิติ สูงสุดในไตรมาส 1/2566 แต่ราคาหุ้นตกลงมาถึงเกือบ 40% นับตั้งแต่ ไตรมาส 3/2566 ก็ได้สะท้อนถึงแนวโน้มที่อ่อนแอของกลุ่มยานยนต์และความคาดหมายว่ากำไรจะโตในอัตราที่ชะลอตัวลงในปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้บริษัทยังสามารถจ่ายปันผลได้ในอัตราที่สูงถึง 7% ต่อปี คงคำแนะนำซื้อ และคงราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 33 บาท

การฟื้นตัวยังจำกัด

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จํากัด ระบุว่า AH รายงานกําไรสุทธิอ่อนแอที่ 103 ล้านบาท ใน 2Q67 ลดลง 75% YoY และ 68% QoQ ตํ่ากว่าตลาดคาด 46% จากยอดขายและอัตรากําไรขั้นต้นที่อ่อนแอ ส่งผลทําให้เราปรับประมาณการกําไรปกติลดลง 9% ในปี 2567 และ 9% ในปี 2568 ส่วนราคาหุ้นที่ลดลงและ valuation ระดับตํ่าสะท้อนถึงความคาดหวังค่อนข้างตํ่าของตลาด แต่เชื่อว่าการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่มีสัญญาณ ฟื้นตัวที่ชัดเจนจะทําให้โอกาสในการ re-rating สําหรับ AH มีจํากัด เราคงคําแนะนําNEUTRAL สําหรับ AH โดยปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 ใหม่เป็น 18.5 บาท/หุ้น (ลดลงจาก 20บาท/หุ้น หลังจากปรับประมาณการกําไรลง)

ครึ่งปีหลังมีโอกาสพลิกฟื้น

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ประเมิน AHว่ามีกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 ที่ 103 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และลดลง 68% จากไตรมาสก่อนหน้าโดยมีรายการพิเศษเป็นกำไรประมาณ 3 ล้านบาท และถ้าไม่รวมจะมีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาทลดลง 67% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการลดลงแรงตามอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว 

ขณะที่ด้านรายได้พบว่าไตรมาส 2/67 AH มีรายได้ที่ 6,436 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการลดลงที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ยอดการผลิตลดลง 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะบริษัทมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาช่วย โดยรายได้จากโปรตุเกสเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์จากช่วยในการปีก่อน ขณะที่มาเลเซียเพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนจีนเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า

ด้านอัตรากำไรขั้นต้นว่าอยู่ที่ 8.6% ลดลงจาก 10.8% ในไตรมาส 2/66 และลดลง 9.5% จากไตรมาส 1/67 เพราะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 31.5 0% จาก 27.8% ในแต่ละ Mark 2/66 รวมถึงมีการตั้งสำรองสินค้าคงเหลือของบริษัทในโปรตุเกสเข้ามาประมาณ 100 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 456 ล้านบาท ถือว่าทรงตัวจากไตมาแรกที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเพราะมีบริษัทย่อยอย่าง AVEE เพิ่มเข้ามา

นอกจากนี้ AH ยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังบริษัทร่วมอย่าง พูแรม อาปิโก เริ่มมีกำไรแล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายที่ 110 ล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อนและไตรมาสแรกที่ผ่านมาประเมินธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังของบริษัท คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นทั้งจากการที่ไม่มีช่วงที่มีวันหยุดมากเหมือนไตรมาส 2/67 และการเปิดโรงงานใหม่ของผู้ประกอบการจากจีน อย่างไรก็ตามจะให้กับปกติคงเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 เป็นต้นไปหลังการแข่งขันด้านราคาจากรถ EV ของจีนหมดไป ส่วนในแง่คำสั่งซื้อใหม่ทาง AH แจ้งว่าจะมีคำสั่งซื้อมูลค่าสูงเข้ามาในปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นกลุ่มรถกระบะ EV นั่นทำให้กำไรสุทธิในครึ่งปีแรก 2567 ที่ระดับ 422 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 28% ของกำไรทั้งปีเดิมที่คาดไว้ แม้จะมองว่าครึ่งปีหลัง 2567 นี้จะเห็นการฟื้นตัวแต่คาดว่าระดับที่เคยคาดไว้สูงไป จึงปรับกำไรทั้งปีลง 3.2% เหลือ 1,027 ล้านบาท โดยปรับกำไรขั้นต้นลงเหลือ 9.7% จาก 10.2% แต่ยังคงคำแนะนำซื้อด้วยมูลค่าพื้นฐาน 25.6 บาท เพราะมองว่าระยะยาวจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทั้ง ICE และ EV ซึ่ง AH มีความพร้อมรับคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาได้

หนี้ครัวเรือปัจจัยกดดันสำคัญ

สำหรับ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า AH รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/67 ที่ระดับ 103 ล้านบาท ลดลง 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าต่ำกว่าประมาณการของเรา 18% จากค่าใช้จ่ายในการขายและบริการที่สูงกว่าค่า 11% โดยบริษัทมีรายได้ 6,436 ล้านบาท ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการชะลอตัวตามอุตสาหกรรมผลิตรถในประเทศที่ปรับตัวลดลง 16% โดยเฉพาะจากตลาดรถกระบะที่ยอดขายหายไปเนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่วนตลาดรถยนต์นั่งถูกกินส่วนแบ่งตลาดจากตลาด EV ที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจำหน่าย

ประเด็นถัดมาส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมในไตรมาส 2/67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทลูก พูแลม อาปิโก ได้พริกจากขาดทุนเป็นกำไร หลังจากเริ่มผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสิ่งที่น่าสนใจคือประสิทธิภาพในการทำกำไรลดลง ตามผลของรายได้ที่ลดลง และพ้นจาก product Mix ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยที่มีอัตรากำไรสูงปรับลดลงในสัดส่วนมากกว่าธุรกิจในประเทศอื่น และธุรกิจที่โปรตุเกสมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเนื่องจากผลกระทบทางบัญชีจากการลดสินค้าคงเหลือ ส่งผลให้ EB ITDA Margin ปรับลดลงจากไตรมาสแรกปีนี้ที่ระดับ 7.6% และไตรมาส 2/66 ที่ระดับ 9.1% เหลือ 6.7% นั่นทำให้แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาดว่าผลประกอบการจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ยังชะลอตัว ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง นอกจากนี้ยังถูกดึงส่วนแบ่งตลาดจาก EV ที่ช่วงแรกยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงตลาดรถมือสอง ที่ราคาตกต่ำส่งผลให้ยอดซื้อรถใหม่ลดลง และทำให้ค่ายรถยนต์ยังคงปรับลดกำลังการผลิตลงต่อเนื่อง

ขณะที่ตลาด EV สำหรับลูกค้า Vinfast มีคำสั่งซื้อลดลงจากปีก่อน ส่วนคำสั่งซื้อใหม่ในปีนี้ที่ได้มาจากค่ายรถยนต์ B YD และ CHANGAN เริ่มส่งมอบแล้ว แต่ยังมีมูลค่าไม่สูงนัก ทำให้คงประมาณการกำไรปี 2567 ที่ 990 ล้านบาท ลดลง 44% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และทำให้ปรับคำแนะนำจากเดิม Trading เป็น ซื้อ เพราะมองว่าราคาหุ้นปรับลดลงสะท้อนปัจจัยลบไปแล้วพอสมควร โดยราคาปัจจุบันซื้อขายที่ PE ต่ำเพียง 5.3 จึงประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 17.30 บาท บนความเสี่ยงที่สำคัญคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในอุตสาหกรรม EV ที่รุนแรงขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น