xs
xsm
sm
md
lg

EXIM BANK ประกาศความสำเร็จขาย Blue Bond สกุลบาทครั้งแรก เติมเต็มเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันมหาสมุทรและทะเลถือเป็นแหล่งรายได้ของประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก สร้างการจ้างงานมากถึง 820 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมประมงและที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ 80% ของปริมาณการค้าโลกก็เป็นการขนส่งทางทะเล ทำให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ประเมินค่าระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ของโลกไว้สูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้สร้างความเสียหายต่อสมดุลของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยให้ความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากการมุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อแก้ปัญหาแล้ว อีกหนึ่งกลไกที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นคือ ระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น “Green Development Bank” ส่งเสริมการรักษาสมดุลของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ประกาศความสำเร็จในการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ทรัพยากรทางทะเล) (Blue Bond) โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยออก Blue Bond สกุลบาท อายุ 3 ปี วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่ง ADB เป็นที่ปรึกษาการจัดทำ และให้การรับรองการออก Blue Bond โดย DNV (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลก และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จาก Fitch Ratings

Blue Bond ของ EXIM BANK จำนวน 3,000 ล้านบาทได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่จนสามารถเสนอขายได้เต็มจำนวนวงเงิน มียอดจองซื้อสูงถึง 2.5 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย การระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เช่น ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ การจัดการและบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี เป็นต้น

ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) (ADB) ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลและที่เกี่ยวเนื่องถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว พาณิชยนาวี อุตสาหกรรมอาหารทะเล และการประมง คิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวมของประเทศ การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนจึงมีความจำเป็น การออก Blue Bond ของ EXIM BANK ในครั้งนี้ จึงนับเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจสีเขียว ผนวกกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย “IGNITE THAILAND” ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Financial Hub ในภูมิภาค


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนรวม 11,500 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา แบ่งเป็นพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท พันธบัตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อ SMEs (SME Green Bond) มูลค่า 3,500 ล้านบาท และล่าสุดคือ พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ทรัพยากรทางทะเล) (Blue Bond) มูลค่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Economy) ภายใต้แนวทาง Sustainability Linked Loan (SLL) ประกอบด้วยสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.85% ต่อปี วงเงินอนุมัติสูงสุด 200 ล้านบาท โดย EXIM BANK มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจากราว 37% ในปัจจุบัน เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2570

ปัจจุบัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ที่ 14 (Life Below Water) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับ Blue Economy ยังเป็นเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนน้อยที่สุดในบรรดา 17 เป้าหมาย โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่า การจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนที่ 14 ภายในปี 2573 อาจต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงราว 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เท่ากับว่ายังมีช่องว่างของเงินลงทุนเหลืออยู่มากถึงเกือบ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

“แรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนา Blue Economy คือ เงินทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ซึ่ง Blue Bond นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทช่วยระดมทุนเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าว การระดมทุนผ่านพันธบัตรสีน้ำเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้ จึงมีส่วนช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดินสู่มหาสมุทร ร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกเดือด และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน” ดร.รักษ์ กล่าว

EXIM BANK พร้อมเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดินสู่มหาสมุทร ร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกเดือด และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน ชมคลิปงานแถลงความสำเร็จในการออก Blue Bond ของ EXIM BANK คลิก https://shorturl.at/0wDcf


กำลังโหลดความคิดเห็น