PwC เผยผลสำรวจล่าสุด พบผู้บริโภคชาวไทย 54% กังวลผลกระทบต่อประเทศจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค ทำให้เลือกใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ขณะที่ "โซเชียลมีเดีย" เป็นช่องทางที่คนไทยชื่นชอบมากสุดสำหรับใช้ในการชอปปิ้งออนไลน์ แม้จะยังกังวลปัญหาข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
นายพิสิฐ ทางธนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจเสียงของผู้บริโภค ประจำปี 2567 ภาพรวมของเอเชียแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ของ PwC ว่า ความไม่แน่นอนของภาพรวมเศรษฐกิจได้ส่งผลให้ผู้บริโภคแสดงความกังวลต่อการจับจ่ายสินค้า โดย 54% ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุดในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตามมาด้วยปัจจัยเงินเฟ้อ (53%) และความเสี่ยงทางไซเบอร์ (41%)
"ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ได้ส่งผลต่อภาพรวมพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยคนไทยส่วนใหญ่ มีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ยังคงพยายามที่จะรักษาสมดุลระหว่างการใช้จ่ายที่จำเป็น และการปรับไลฟ์สไตล์ของตนให้ดีขึ้น โดยมองที่ความคุ้มค่าของเงินที่ต้องจ่ายเป็นสำคัญ" นายพิสิฐ กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 504 ราย เกี่ยวกับแนวโน้มการจับจ่ายสินค้าและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ เช่น เทคโนโลยีเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโซเชียลมีเดีย ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. และ ก.พ.67 พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยจะให้ความสำคัญกับสินค้าที่จำเป็น (necessities) มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury items) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดย 69% คาดว่าจะใช้จ่ายกับสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม (60%) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (52%)
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า 4 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยจะพิจารณาเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ตนชื่นชอบ ไปใช้ตัวเลือกอื่นที่ราคาถูกกว่า หากได้รับความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากกว่า ขณะที่ 51% ยังรู้สึกพึงพอใจกับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว การปรับปรุงที่อยู่อาศัย (50%) และเสื้อผ้าและรองเท้า (46%)
* คนไทยชอปออนไลน์ฉ่ำ! สูงอันดับต้นของโลก
พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่ชื่นชอบใช้งานอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ยังสอดคล้องกับรายงานของ PwC ที่พบว่า 73% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยมีการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (สูงกว่าเอเชียแปซิฟิกที่ 56% และทั่วโลกที่ 34%) โดยข้อมูลจากรายงาน Digital 2024: Thailand ที่จัดทำโดย We Are Social และ Meltwater ระบุว่า ในช่วงต้นปี 2567 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทั้งสิ้น 63.21 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการท่องอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยเกือบ 8 ชั่วโมง/วัน ขณะที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศมากกว่า 49 ล้านคน
แต่แม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยจะชื่นชอบการทำกิจกรรมการชอปปิ้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งการค้นหาแบรนด์ใหม่ๆ (82%) หรือซื้อสินค้าหรือบริการที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ (62%) แต่พวกเขากลับจัดอันดับให้บริษัท และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด โดย 77% กล่าวว่า มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (privacy) และการแบ่งปันข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย
นายพิสิฐ กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (data protection) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยมองว่า การปกป้องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ และมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นที่พวกเขามีต่อบริษัทต่างๆ
*ผู้บริโภคไทยยอมจ่ายแพงสำหรับสินค้าเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืน (sustainable products) มากขึ้น โดยรายงานระบุว่า 95% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชีวิตประจำวัน จึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าครึ่ง (58%) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น และยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 11.7% ของราคาสินค้าโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและเอเชียแปซิฟิกที่ 9.7% และเกือบ 11% ตามลำดับ
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า การดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของผู้ประกอบการค้าปลีกจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยพบว่า การลดของเสีย และการรีไซเคิลจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากที่สุด (45%) รองลงมา คือ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (37%) และผลกระทบเชิงบวกต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและน้ำ (35%) นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (79%) ยังแสดงความสนใจอย่างมากในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle) หรือรถยนต์ไฮบริด (hybrid vehicle) เพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน
"ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวไทยตระหนักดีถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้างมากขึ้น และยอมที่จะจ่ายแพงกว่าเดิมสำหรับสินค้ารักษ์โลก ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตควรต้องมีกลยุทธ์ รวมทั้งหาจุดสมดุลระหว่างความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โดยผสมผสานการใช้ช่องทางการตลาด ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ และนำเทคโนโลยี GenAI เข้ามาใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า และกระตุ้นยอดขาย ขณะเดียวกัน ก็ควรพิจารณาการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจและมีความภักดีต่อแบรนด์ยิ่งขึ้น" นายพิสิฐ กล่าว