กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรกเติบโตแข็งแกร่ง มียอดบัญชีลูกค้าใหม่ 287,000 บัญชี เติบโต 7% ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 189,000 ล้านบาท เติบโต 9% ยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท เติบโต 6% และยอดสินเชื่อคงค้าง 140,000 ล้านบาท เติบโต 2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกาศกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง พร้อมต่อยอดความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล คาดมียอดบัญชีลูกค้าใหม่ 617,000 บัญชี (+10%) ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท (+8%) ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท (+9%) และยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท (+2%) ภายในปี 2567
นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรกของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 เติบโตเป็นที่น่าพอใจจากความสำเร็จในการเดินกลยุทธ์ของบริษัท โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 189,000 ล้านบาท เติบโต 9% ยอดสินเชื่อใหม่ 47,000 ล้านบาท เติบโต 6% ยอดสินเชื่อคงค้าง 140,000 ล้านบาท เติบโต 2% และจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่ 287,000 บัญชี เติบโต 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุดเรียงตามยอดใช้จ่าย ได้แก่ 1.ประกันภัย 2.ปั๊มน้ำมัน 3.ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน 4.ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เกต และ 5.ชอปออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ตัวแทนท่องเที่ยว 2.โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน 3.ชอปออนไลน์ 4.อาหารและเครื่องดื่ม และ 5.ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เกต ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ระดับ 1.4% สำหรับบัตรเครดิต และ 2.6% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ อันเป็นผลจากการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะมุ่งเน้นสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อคงความเป็นผู้นำในธุรกิจ โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.มุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลักให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น 2.ขยายระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ 3.สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน 4.ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ 5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน
กลยุทธ์หลัก 5 ประการ ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้แก่
- มุ่งพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลักให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างความเติบโตในธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หลัก คือ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อผ่อนชำระ ให้มีจุดเด่นและสิทธิประโยชน์ที่ตรงความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งวางช่องทางการตลาดและการจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
- ขยายระบบนิเวศพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ โดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งพันธมิตรหลักที่ร่วมออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตซึ่งอาจต่อยอดความร่วมมือในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ อีกทั้งพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ในธุรกิจต่างๆ ที่จะร่วมนำเสนอโปรโมชันที่ตอบไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยเน้นหมวดร้านอาหาร และแผนผ่อนชำระ (Extended Payment Plan)
- สร้างเสริมนวัตกรรมทางการชำระเงิน พัฒนานวัตกรรมทางการชำระเงิน (Payment Solutions) ใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นให้ลูกค้า เช่น การใช้ Biometrics หรือการผูกบัญชีบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กับอุปกรณ์ต่างๆ หรือ Digital Wallet
- ผสานความร่วมมือในเครือกรุงศรีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยผสานความร่วมมือให้สอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายทางธุรกิจที่เครือกรุงศรีมุ่งเน้น เช่น ความร่วมมือกับหน่วยงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคลของธนาคารผ่านกลยุทธ์ Krungsri One Retail เพื่อเชื่อมโยงให้ลูกค้าบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในเครือกรุงศรีเพื่อตอบความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
- พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยวางโครงสร้างและการบริหารทรัพยากรของหน่วยงานสนับสนุนให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจในอนาคตของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สามารถรองรับความเติบโตในอนาคตได้
“กลยุทธ์ทั้ง 5 ประการนี้เป็นไปเพื่อเสริมศักยภาพของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพและรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินไว้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทคาดมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดบัญชีลูกค้าใหม่ 617,000 บัญชี (+10%) ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 393,000 ล้านบาท (+8%) ยอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท (+9%) และยอดสินเชื่อคงค้าง 151,000 ล้านบาท (+2%)” นายอธิศ กล่าวสรุป