บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 2.08-2.28 บาท มูลค่าการเสนอขาย 1,494.10-1,639.60 ล้านบาท เปิดจองซื้อช่วงวันที่ 30 ส.ค. และ 2-3 ก.ย. 67 ส่วนนักลงทุนสถาบัน วันที่ 4-6 ก.ย.67 โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
โดยจัดสรรการเสนอขายหุ้นให้ 1) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย และบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทหรือบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 75,000,000 หุ้น 2) ผู้มีอุปการคุณของบริษัทหรือบริษัทย่อย จำนวน ไม่เกิน 112,500,000 หุ้น 3) นักลงทุนสถาบัน และบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จำนวน ไม่น้อยกว่า 562,000,000 หุ้น รวมทั้งหมด 750 ล้านหุ้น
PCE แต่งตั้ง บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ร่วม โดยมี บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) บล.ทรีนีตี้ และ บล.ไอร่า เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์หุ้น IPO
การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่เสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : PER) ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่เสนอขายหุ้นละ 2.08-2.28 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PER) เท่ากับ 17.28-18.94 เท่า คำนวณจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66-30 มิ.ย.67 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 331.22 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลัง IPO ซึ่งเท่ากับ 2,750 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่เท่ากับ 0.1204 บาทต่อหุ้น
บริษัทจะนำเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ในการลงทุนในกิจการอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องตามกลยุทธ์การขยายกิจการทั้งในรูปแบบ Backward Integration, Forward Integration และ Horizontal Integration โดย PCE ซึ่งเป็น Investment Holding Company อาจเข้าลงทุนทั้งในรูปแบบการลงทุนในหุ้นสามัญของกิจการอื่น (Share Acquisition) และ/หรือการลงทุนซื้อทรัพย์สินของกิจการอื่น (Assets Acquisition) และ/หรือการร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่ม PCE โดยเน้นการลงทุนในส่วนของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อเป็นการเพิ่มความมีเสถียรภาพในการจัดหาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จำนวน 500 ล้านบาท ในช่วงปี 67-68
นอกจากนี้นำไปใช้ในการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อขยายกำลังการผลิต และเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน NBD (บริษัทย่อย) จำนวน 500 ล้านบาท ในช่วงปี 67-68 และเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม PCE จำนวน 494.10-639.60 ล้านบาท ในปี 67-68
PCE ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ปัจจุบันมีการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) โดยดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ดำเนินงานโดยบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด (NBD)
กระบวนการซื้อและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม อาทิ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม โดยซื้อจากผู้ผลิตรายอื่นเพื่อนำมาจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดำเนินงานโดยบริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด (PACO) การให้บริการคลังรับฝากน้ำมันปาล์ม คลังสินค้าทั่วไป ลานเทกองเก็บสินค้า และให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้า ดำเนินงานโดยบริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (PKM) การให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ ทั้งสินค้าเหลวและสินค้าแห้งในประเทศ ดำเนินงานโดยบริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด (PC) รวมถึงให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดำเนินงานโดยบริษัท พี.ซี.มารีน (1992) จำกัด (PCM)
นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCE กล่าวว่า บริษัทฯ คาดการเติบโตของรายได้ในอนาคตจะเป็นไปตามการขยายตัวของ 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค รวมถึงรับซื้อน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องมาจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า, กลุ่มธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ, กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และกลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ
PCE ได้วางยุทธศาสตร์ก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มระดับประเทศ ผ่านกลยุทธ์ที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มบริษัทฯ ได้แก่ ความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร และความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน(Supply Chain) โดยกลุ่มบริษัทฯ มีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ตลอดจนกระบวนการขนส่งที่ทันสมัย ด้วยประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมเกือบ 40 ปี ทำให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงของอุตสาหกรรม และลดต้นทุนโดยรวมผ่านการบริหารจัดซื้อ การบริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงกระบวนการจัดส่งสินค้าถึงลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบ One Stop Service ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีข้อได้เปรียบ เช่น มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบ มีคลังจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้า รวมทั้งท่าเรือทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และฉะเชิงเทรา ตลอดจนธุรกิจขนส่งทางรถและทางเรือ และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เป็นของตนเอง นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของกลุ่มบริษัทฯ ยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ลูกค้า และท่าเรือ และมีกระบวนการผลิต และควบคุมคุณภาพที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล
"บริษัทฯ มีกลยุทธ์ต่อยอดการเติบโต ผ่านการขยายกำลังการผลิต การขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ยุโรป สหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การทำ R&D ต่างๆ เพื่อให้ได้สินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ"นายประกิต กล่าว
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APM กล่าวว่า PCE มีจุดเด่นต่างจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มรายอื่น โดยมีความพร้อมการจัดการระบบ Supply Chain ที่เสริมสร้างและสนับสนุนกันในแต่ละธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการผลิต การขาย และโลจิสติกส์ จึงมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรระดับประเทศ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งภายในประเทศและตลาดโลก