xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 34.26 จับตาถ้อยแถลงเฟด-ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ส.ค.) ที่ระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.40 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแกว่งตัว sideways ในกรอบ 34.16-34.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังการปรับปรุงรายงานข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น (Preliminary Annual Payrolls Benchmark Revision) ชี้ว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วง 12 เดือนที่สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคมของปีนี้นั้นลดลงกว่า 8.18 แสนตำแหน่ง จากที่ได้รายงานก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า แนวโน้มการชะลอลงของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นนั้นจะทำให้เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนอย่างแน่นอน (พร้อมเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน) และผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ ทว่า เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ และอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหนักกว่า -2.4% จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ดูไม่น่ากังวลมากนัก

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนสิงหาคม ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งหากดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในฝั่งสหรัฐฯ นั้นปรับตัวดีขึ้น หรืออาจออกมาดีกว่าคาด จะพอช่วยคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก หลังตลาดรับรู้การปรับปรุงรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เบื้องต้นในคืนที่ผ่านมาได้บ้าง และอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย -100bps ในปีนี้

นอกจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของเฟด จากงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงวันก่อนหน้า และยังอ่อนค่าลงได้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมติ 6-1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อน ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของเราที่ Call Bottom USDTHB แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (เราประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าหลุดโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากเราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้นได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไปมากแล้ว ขณะที่เงินบาทเริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น หากตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในสัปดาห์นี้ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในจังหวะย่อตัว ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ อาจขาดปัจจัยหนุนในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ จากการประเมินสถานะการถือครองของผู้เล่นในตลาด รวมถึงการประเมิน Valuation ของเงินบาท ทำให้เรามองว่าเงินบาทอาจทยอยพลิกกลับมาอ่อนค่าจากโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ อนึ่ง เราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทได้กลับมาสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงชัดเจน หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน ในเบื้องต้น เราประเมินว่าเงินบาทจะมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านสำคัญในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับนั้นได้ขยับขึ้นมาแถว 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์

เรามองว่าควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย (Jobless Claims) ไปจนถึงช่วง 20.45 น. (ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ) ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดในประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด
กำลังโหลดความคิดเห็น