xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 34.36 จับตาแนวรับที่ 34.30-34.40

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ส.ค.) ที่ระดับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ทยอยปรับตัวลดลงราว -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,485 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวนด์สูงขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้านแถว 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ได้ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -100bps ในปีนี้

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ซึ่งการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ พร้อมกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่โซนแนวรับแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวได้อาจทยอยแข็งค่าทดสอบจุดแข็งค่าสุดในปีนี้แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เช่น Raphael Bostic (Fed Atlanta) และ Michael Barr (Vice Chair for Supervision) ในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธที่ 21 สิงหาคม เพื่อประเมินมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราประเมินไว้ ทว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณว่าการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในช่วงนี้จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ เรามองว่าปัจจัยที่เคยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงก่อนหน้า อย่างการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำเริ่มเจอโซนแนวต้าน ทำให้ในช่วงระยะสั้นราคาทองคำมีความเสี่ยงที่อาจย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นได้บ้าง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนขึ้น เช่น ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านและทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยทยอยคลี่คลายลง ทำให้ในเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก หากยังไม่มีปัจจัยเข้ามากดดันเงินบาทที่ชัดเจน เช่น ตลาดกลับไปเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยราว -75bps หรือน้อยกว่านั้นในปีนี้ (ซึ่งจะกระทบทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำ) หรือตลาดการเงินไทยถูกกดดันโดยความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทนั้นต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะแข็งค่าหลุดโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าวได้จริงจะเปิดโอกาสให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ทดสอบจุดแข็งค่าสุดในปีนี้แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวันเรามองว่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนทั้งในฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่า ไปตามทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ในช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างพอสมควร 145-148 เยนต่อดอลลาร์ ดังจะเห็นได้จากในช่วงวันก่อนหน้าที่เงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นจากโซน 148 เยนต่อดอลลาร์ จนเข้าใกล้ระดับ 145 เยนต่อดอลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นจนทดสอบโซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น