xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยไปต่อรับ ครม.ใหม่ จับตานโยบายพรรคร่วม มีลุ้นได้เห็นคนละครึ่งภาค 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นไทยไปต่อ คาด ครม.ใหม่จัดตั้งได้เร็ว ภาพรวมเชื่อเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังโตแบบขั้นบันได หวังอยากให้รัฐบาลใหม่ปรับปรุงดิจิทัลวอลเล็ต เพิ่มศักยภาพกระตุ้นการใช้จ่าย พร้อมคาดหนุน “อุ๊งอิ๊ง” ต้องแลกเก้าอี้ ครม. แถมต้องชูนโยบายพรรคร่วมใหม่เด่นขึ้น จนมีลุ้นคนละครึ่งภาค 2 เข้ามาเป็นตัวช่วย

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยกลับมาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

โดยขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะของรัฐบาลสิ้นสุดลงด้วย

จุดเริ่มต้นของปัญหาเกิดขึ้นจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 40 คน ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าบุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาคุมขังเป็นเวลา 6 เดือน แม้ต่อมาจะได้ขอลาออกจากตำแหน่งก็ตาม

ปลดเศรษฐาหุ้น Panic เล็กน้อย

ขณะที่บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนั้น (14 ส.ค.) ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ดัชนีหลักทรัพย์ (Set Index) ร่วงกว่า 15 จุด หรือ 1.23% แตะ 1,281.89 จุด จากข้อมูลการซื้อขายพบว่า มีแรงเทขายเกิดขึ้นกับหุ้นขนาดใหญ่ เช่น PTT CPALL BDMS ADVANC ฉุดดัชนีหุ้นไทยในช่วงบ่ายนี้ทิ้งดิ่งกว่า 15 จุด

อย่างไรก็ตาม ก่อนปิดการซื้อขายมีแรงซื้อกลับเข้ามาผลักดันดัชนีกลับขึ้นมาปิดที่ระดับ 1,293.69 จุด ลดลง -5.10 จุด คิดเป็น -0.39% มูลค่าการซื้อขาย 53,414.91 ล้านบาท โดยระหว่างวันดัชนีปรับขึ้นสูงสุด 1,306.88 จุด และลดลงต่ำสุด 1,280.99 จุด

มีรายงานว่าหลังจากที่ นายเศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิด ทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อนโยบายรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าอยู่นั้นจะมีการสานต่อหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงทะเบียนไปแล้วจะดำเนินต่อหรือไม่ หรือจะจบลงพร้อมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ส่งสัญญาณบางอย่างที่ช่วยยืนยันว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แม้จะขาดนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นั่นเพราะแรงซื้อที่ไหลกลับเข้ามาในช่วงท้ายของการซื้อขายได้ช่วยยืนยันว่า โดยรวมนักลงทุนไม่ตื่นตระหนกมากเท่าไหร่

รัฐบาลชุดเดิมทำงานต่อได้

ขณะที่วันต่อมา (15 ส.ค.) แม้ SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ แต่ไม่ได้เป็นแรงขายออกมาจนกดดัชนีให้ทรุดตัวลงมากนัก นั่นเพราะทุกภาคส่วนเชื่อว่า กระบวนการสรรหาผู้เสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล รวมถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะสามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว และนั่นจะทำให้การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไม่สะดุด เนื่องจากขั้วพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเดิมยังจับมือกันเหนียวแน่น

ขณะเดียวกัน มีความเชื่อว่า การที่ “แพทองธาร ชินวัตร” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในโควตาของพรรคเพื่อไทย (16 ส.ค.) ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง และเชื่อว่านโยบายต่างๆ ตั้งแต่สมัยที่นายเศรษฐาดำรงตำแหน่งจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการประเมินรัฐบาลใหม่ว่าที่จะมีการจัดตั้งขึ้นน่าจะทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากงบประมาณได้รับการอนุมัติแล้ว จึงสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ดีกว่า นั่นจะทำให้เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจไทย เพราะจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบมากขึ้น

สุญญากาศระยะสั้น

มีการประเมินว่า ความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงของประเทศ และความน่าดึงดูดใจในการลงทุนยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นเดียวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต่างประเทศ และภาคเอกชนจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ นั่นทำให้มีการชะลอเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ เป็นผลให้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติระมัดระวังมากขึ้น และคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าเป็นผลกระทบแค่ระยะสั้นสำหรับตลาดหุ้นไทย ดังนั้น เมื่อสุญญากาศทางการเมืองแค่ช่วงสั้นๆ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะยิ่งน้อ

และคาดว่าท้ายที่สุดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศน่าจะไหลกลับเข้ามา แต่ต้องยอมรับว่าการสะดุดทางการเมืองของประเทศไทยที่เกิดขึ้นล่าสุด ย่อมมีแบบนัยสำคัญต่อตลาดทุน นั่นคือนักลงทุนต่างชาติบางส่วนหรือส่วนมากอาจเลือกหันไปลงทุนประเทศอื่นแทน

แม้สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยต่ำมากแล้ว และราคาหุ้นส่วนใหญ่ต่ำกว่าพื้นฐาน จึงยังมีความน่าสนใจเข้าลงทุน จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทเติบโตดี

คาดพรรคร่วมมีข้อตกลงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นคิดบางส่วนจากตลาดทุน การร่วมกันสนับสนุน “แพทองธาร ชินวัตร” บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ” ครั้งนี้ น่าจะมีการข้อตกลงใหม่เกิดขึ้นกับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล นั่นหมายถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อาจมีการปรับเปลี่ยนหรือสลับเก้าอี้เกิดขึ้นเป็นข้อแลกเปลี่ยน

ขณะที่การขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ด้วยเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้มีความความเป็นไปได้สูงที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ทั้งในรูปแบบเดิม หรือมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด

“ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในส่วนงบลงทุนอีกกว่า 4 แสนล้านบาทออกมา เพราะอย่างน้อยจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้”

จากข้อมูลข้างต้น หลายสัญญาณบวกเริ่มปรากฏชัดขึ้นในวันที่ 16 ส.ค.2567 เมื่อบรรยากาศตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน หลังมีการโหวต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ส่งผลให้ปิดตลาดที่ระดับ 1,303.00 จุด เพิ่มขึ้น 13.16 จุด หรือ 1.02% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 35,657.72 ล้านบาท

โดยประเด็นที่ต้องติดตามของนักลงทุนคือ ตัวเลข GDP ไตรมาส 2/67 และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่อแนวทางดอกเบี้ยว่ามีโอกาสลดหรือไม่ ส่วนประเด็นทางการเมืองการตัดสินคดีความของนายทักษิณ ชินวัตรที่จะเกิดขึ้น ส่วนการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ต้องรอพิสูจน์ฝีมือ แต่ต้องดูทีมคณะรัฐมนตรีและความพร้อม รวมทั้งต้องติดตามการแถลงนโยบายต่อสภาว่าจะเป็นนโยบายใหม่ หรือนโยบายเดิม

จี้ทบทวนดิจิทัลวอลเล็ต

แต่สิ่งทีน่าสนใจนั่นคือ ในแวดวงตลาดทุนไทยมีความต้องการให้รัฐบาลใหม่ทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 4-5 รอบจริงหรือไม่ รวมถึงไม่ควรปิดโอกาสใช้วิธีแบบรัฐบาลก่อนหน้าที่ได้ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างโครงการ "คนละครึ่ง" ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ครึ่งหนึ่ง และนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นต่อ ที่ยังสามารถสร้างผลลัพธ์ให้เศรษฐกิจได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มีมุมมองต่อการเมืองไทยขณะนี้ว่า ด้วยโครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เปลี่ยน เชื่อว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ส.ค. ถือเป็นช่วงเวลาที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองที่สั้นตามที่ได้ประเมินไว้ ส่วนการตอบสนองของ SET INDEX เชื่อว่าน่าจะเป็นบวก ทั้งนี้ในเชิงสถิติพบว่าในวันที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจนครอบคลุมไปถึง 1 สัปดาห์หลังจากนั้นพบว่า SET INDEX เป็นบวกทุกครั้ง

“พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลักที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดที่ 141 เสียง ตามด้วยพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง จึงเชื่อว่า นโยบายต่างๆ น่าจะ ถูกขับเคลื่อนออกมาได้ในช่วงเวลาที่่เหลือของปี เช่น นโยบายหลักอย่าง DIGIRAL WALLET กองทุน TESG-วายุภักษ์ ปรับขึ้นค่าแรงขั้้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ENTERTAINMENT COMPLEX เป็นต้น ซึ่งจะหนุนให้ GDP GROWTH ยังเติบโตเป็นขั้นบันไดดังที่หลายสำนักเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ได้”

นโยบายพรรคร่วมถูกผลักดันมากขึ้น

ขณะที่นโยบายอื่นๆ ที่มีโอกาสถูกผลักดันมากขึ้น คือ นโยบายเรือธงของ 3 พรรคร่วม รัฐบาล เช่น LANDBRIDGE พักหนี้้ 3 ปีหยุดต้น-หยุดดอก บัตรประชารัฐฯ คนละครึ่งภาค 2 เป็นต้น จึงทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะดูดี และมีโอกาสเติบโตเป็นขั้นบันไดดังเดิมได้ แค่เพียงอาจจะล่าช้าไปบ้างตามกระบวนการเลือกนายกฯ-ครม.ชุดใหม่

ส่วนปัจจัยในต่างประเทศ พบว่าความกลัว RECESSION ลดลงตามลำดับ เมื่อวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มต้นในเดือน ก.ย.นี้ โดยผลการสำรวจของ FED WATCH TOOL ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น 74% ที่จะเห็น FED ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก 25 BPS. สู่ระดับ 5.25% ส่วนในประเทศต้องรอติดตามการประชุม กนง. ในวันที่ 21 ส.ค.67 ทำให้มีมุมมองเชิงบวกต่อ SET INDEX เพิ่มขึ้นโดยเชื่อว่าจะได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศเร็วๆ นี้

โดยเชื่อว่าระยะถัดไป SET INDEX มีโอกาสฟื้นเร่งตามตลาดหุ้นโลก จากสุญญากาศทาง การเมืองแคบและเกิดขึ้นไม่นาน

สำหรับหุ้นเด่นน่าสะสมหลังการเมืองผ่อนคลาย แนะนำ หุ้นท่องเที่ยวที่ลงหนักช่วง การเมืองไม่แน่นอน AOT, CENTEL, MINT หุ้นรับเหมาวัสดุก่อสร้าง ได้แรงหนุนจากงบประมาณปี 68 น่าจะเดินหน้าตามกรอบเวลาเดิม CK, STEC, SCC, SCCC หุ้นค้าปลีกหาจังหวะซื้อเมื่อเห็นความคืบหน้านโยบายกระเป๋าตังค์ดิจิทัล CPALL, BJC, CRC ภาพครึ่งปีหลังยังดูดี ทั้งนโยบายเดินหน้า หนุน GDP GROWTH และกำไร

โดยวันจันทร์นี้ (19 ส.ค.) เตรียมรับปัจจัยบวกจากการประกาศตัวเลข GDP 2Q67 ของไทย ซึ่ง BLOOMBERG คาด +2.1%YOY ดีกว่างวด 1Q67 ที่ +1.5%YOY ซึ่งระยะถัดไป คาดหวังเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบขั้นบันได โดย BLOOMBERG คาดการณ์ GDP GROWTH ใน 3Q67 +2.7%YOY, 4Q67 +4.0%YOY โดยตลอดปี 2567 คาดการณ์ GDP GROWTH อยู่ที่ +2.6%YOY

อีกทั้งข้อมูลล่าสุดที่ฝ่ายวิจัยรวบรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 2Q67 ประกาศออกมาแล้ว 679 บริษัท มีกำไรทั้งสิ้น 2.61 แสนล้านบาท (IVL กำไร 2Q67 -2.3 หมื่นล้านบาท) ลดลง 3.1%QOQ แต่เติบโต 16.2%YOY และดีกว่าตลาดคาดสูงถึง 12.4% ซึ่งจะทำให้กำไรช่วง 1H67 อยู่ระดับ 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่ประมาณการกำไร 2567 ของฝ่ายวิจัยอยู่ระดับ 1.12 ล้านล้านบาท จึงทำให้กำไรช่วง 2H67 มีโอกาสโตถึง 27%HOH อยู่ระดับ 5.9 แสนล้านบาท เนื่องด้วยกำไร 4Q66 อยู่ระดับฐานต่ำกว่าระดับปกติ กำไรช่วง 2H67 มีโอกาสโตถึง 27%HOH

ครึ่งปีหลัง ศก.โตขั้นบันได

ดังนั้นสรุป ภาพครึ่งปีหลังของไทยยังดูดี ทั้ง GDP GROWTH และกำไรบริษัทจดทะเบียน เป็นแรงจูงใจต่อ FUND FLOW ต่างชาติในการซื้อสุทธิ ส่วนความกังวลนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจที่จะล่าช้า ฝ่ายวิจัยคาดเกิดขึ้นแต่ไม่นานนัก เนื่องด้วยโครงสร้าง พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ บล.กรุงศรี มองกรณีดังกล่าวกรอบดัชนีหุ้นไทยใน 1 เดือน จะค่อยๆ ฟื้นตัวสู่กรอบ 1,290-1,360 จุด โดยให้เลือกลงทุนหุ้นได้ประโยชน์กองทุนวายุภักษ์ที่เชื่อว่าเดินหน้าต่อได้ แนะนำ KTB, PTT, AOT กลุ่ม Defensive ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนสื่อสาร แนะนำ ADVANC, TRUE, INTUCH โรงพยาบาล แนะนำ BDMS โรงไฟฟ้า GULF ส่วนค้าปลีกทยอยตั้งรับ CPALL, CPAXT

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ประเมินดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ถัดไป (19-23 ส.ค.) คาดแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,310 และ 1,330 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของไทย การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนี PMI เดือน ส.ค. ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือน ส.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนี PMI เดือน ส.ค.ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ

โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-16 ส.ค.) ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในระหว่างสัปดาห์จากประเด็นการเมืองในประเทศ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์

ทั้งนี้ หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบในช่วงแรก แต่ร่วงลงช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และเทขายหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกจากความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอาจมีการเปลี่ยนแปลงและล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับมีแรงหนุนจากประเด็นการเมืองในประเทศเพิ่มเติม หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้ช่วงท้ายสัปดาห์มีแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และไฟแนนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น