นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ออกประกาศปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุน ส่งเสริมการจัดสรรเงินลงทุนในบริษัทที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน และบริษัทที่มีธรรมาภิบาลในระดับดีเลิศที่มีแผนการเพิ่มมูลค่าบริษัท (corporate value up plan) รองรับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่เห็นชอบมาตรการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป
"ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงประกาศเพื่อขยายขอบเขตการลงทุนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนรวม 5 ฉบับ โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ซึ่งมีผลให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถจัดตั้งหรือแก้ไขโครงการจัดการเพื่อลงทุนตามขอบเขตการลงทุนใหม่ที่กว้างขึ้นได้ โดย ก.ล.ต. ได้จัดซักซ้อมความเข้าใจ บลจ. และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567"
ภายใต้เงื่อนไขใหม่ Thai ESG จะมีทางเลือกในการลงทุนในหุ้นที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนที่ได้รับการประเมินโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังลงทุนในบริษัทที่มีธรรมภิบาลในระดับดีเลิศที่เปิดเผย corporate value up plan ผ่าน platform ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ยกระดับเกณฑ์กำกับดูแล บลจ. ในการบริหารจัดการ Thai ESG โดย บลจ. ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและความชำนาญ ด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวัง (fiduciary duty) ในการคัดเลือกทรัพย์สินที่มีคุณภาพ เพื่อการลงทุนตามวัตถุประสงค์ของ Thai ESG ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทยด้วย
ก.ล.ต. ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของแต่ละกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน โดย Thai ESG จะเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) และเมื่อ Thai ESG ได้รับการจดทะเบียนเป็นกองทรัพย์สินแล้ว ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. โดยคลิกลิงก์ https://sustainablefinance.sec.or.th/Fund
การลงทุนในกองทุน Thai ESG สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท/คน/ปี สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประเมินผลของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินมาตรการ 3 ปี