นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 34.85-35.65 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทวันนี้ (13 ส.ค.) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.25 บาท/ดอลลาร์จากระดับเปิดเช้านี้ที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.29 บาทต่อดอลลาร์ ระดับปิด ณ วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคมโดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาและช่วงวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินไทย เงินบาทได้แกว่งตัวเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ก่อนที่จะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับระยะสั้นแถว 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ที่เราได้ประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 35.08-35.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถว 2,470-2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผลสำรวจคาดการณ์ของผู้บริโภคโดยเฟดสาขานิวยอร์ก (NY Fed’s Survey of Consumer Expectations) สะท้อนว่า ผู้บริโภคประเมินคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะกลาง (3 ปี) ลดลงมากขึ้นสู่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.8% ในผลสำรวจเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ คาดการณ์การผิดนัดชำระหนี้ (Delinquency Expectations) เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ขั้นต่ำในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มสูงขึ้น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ในช่วงวิกฤต COVID-19
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์รีบาวนด์ขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่าควรระวังการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดและ BOE จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และอังกฤษ พร้อมเตรียมรับมือความผันผวนจากปัญหาการเมืองฝรั่งเศสและการเมืองไทย รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โอกาสผันผวนอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ โดยการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้นได้แรงหนุนจากทั้งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำพอสมควร ทำให้ต้องจับตาประเด็นการเมืองในประเทศที่อาจกระทบต่อทิศทางของฟันด์โฟลว์ พร้อมติดตามแนวโน้มราคาทองคำ
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้น หาก 1) ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก 2) ตลาดการเงินเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 3) สกุลเงินหลักฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลง จากความกังวลปัญหาการเมืองฝรั่งเศสและแนวโน้ม BOE อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม