เสียงวิจารณ์การกล่าวโทษคดีความผิดหุ้นที่ล่าช้าดังมาตลอด โดยเฉพาะคดีกล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในความผิดทุจริต ซึ่งกินเวลาล่วงเลยมาถึง 8 ปี ทำให้ความเสียหายกระจายสู่นักลงทุนในวงกว้าง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับการแจ้งเบาะแสการทุจริตเงินจำนวน 3,465 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 แต่ใช้เวลาสอบสวน รวบรวมหลักฐานถึง 8 ปี จึงกล่าวโทษนายสมโภชน์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งราคาหุ้น EA ตกลงมาเหลือเพียงไม่กี่บาทแล้ว
และฐานะการดำเนินงานบริษัทกำลังย่ำแย่ขนาดหนัก มีหนี้สินกว่า 31,166 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนจำนวนมากกว่า 4 หมื่นคน เข้าไป "ติดกับ" หุ้น EA และขาดทุนกันถึงขั้นหมดตัว
ถ้ากระบวนการสอบสวน รวบรวมหลักฐาน สรุปสำนวนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก.ล.ต.สามารถกล่าวโทษผู้บริหาร EA ได้ภายในเวลา 1 ปี หรือภายในปี 2560 ความเสียหายคงจำกัดในวงแคบ
เพราะนักลงทุนที่ถือหุ้น EA อาจมีเพียงระดับ 1 หมื่นคน และราคาหุ้น EA ยังเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 30 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ถูกลากขึ้นไปสูงสุดถึง 105.50 บาท จนนักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไรกันจำนวนหลายหมื่นคน
กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม เช่นเดียวกับกระบวนการกล่าวโทษความผิดในตลาดหุ้นที่ล่าช้า ยิ่งเพิ่มความเสียหายให้นักลงทุน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์กำลังประสานความร่วมมือกัน เพื่อเร่งขั้นตอนการกล่าวโทษคดีร้ายแรงต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น โดยจะกล่าวโทษภายใน 1 ปี นับจากตรวจสอบพบความผิด และจะผลักดันการแก้กฎหมาย เพื่อให้ ก.ล.ต.สามารถฟ้องคดีความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้นได้โดยไม่ต้องผ่านพนักงานสอบสวน
ไม่ต้องกล่าวโทษผ่านกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะแก้ปัญหาคดีถูกตัดตอน โดยความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้อาชญากรหรือแก๊งปั่นหุ้นลอยนวล เพราะคดีส่วนใหญ่ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในขั้นศาล
กลุ่มมิจฉาชีพในตลาดหุ้นจึงไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะถ้า ก.ล.ต.กล่าวโทษสามารถวิ่งเต้นจนหลุดคดีได้
ปีๆ หนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ ส่งข้อมูลการกระทำผิดในตลาดหุ้นเบื้องต้นให้ ก.ล.ต.สอบสวนในเชิงลึกและกล่าวโทษประมาณ 30-40 คดี โดยเป็นความผิดการปั่นหุ้น การให้ข้อมูลเท็จ การฉ้อฉลทรัพย์สินในบริษัทจดทะเบียน การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นหรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง
แต่ปีๆ หนึ่ง ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง หรือกล่าวโทษคดีความผิดต่างๆ ทางอาญา รวมแล้วไม่ถึง 12 บริษัท หรือเฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 1 คดี ซึงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลักฐานไม่เพียงพอดำเนินคดี และอีกส่วนหนึ่งคดียัคั่งค้างอยู่ใน ก.ล.ต.อีกจำนวนมาก
ไม่มีใครรู้ว่ามีบริษัทจดทะเบียนแห่งใดบ้างที่รอคิว “ขึ้นเขียง” รอ ก.ล.ต.ดำเนินคดี ซึ่งถ้ารู้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มแรก
ในอดีตหลายสิบปีก่อนหน้า ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนให้นักลงทุนรับทราบ โดยเมื่อพบพฤติกรรมผิดปกติ ไม่ว่าการซื้อขายหุ้น งบการเงินที่ไม่โปร่งใส พฤติกรรมเข้าข่ายอินไซเดอร์ หรือธุรกรรมที่เข้าข่ายการยักยอกทรัพย์สินในบริษัทจดทะเบียน
เมื่อส่งข้อมูลเบาะแสพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำผิดไปให้ ก.ล.ต.สอบสวนต่อ ตลาดหลักทรัพย์จะแถลงให้นักลงทุนรับรู้ว่า มีบริษัทจดทะเบียนใดบ้างที่ตรวจสอบพบความไม่ปกติ และเข้าข่ายความผิดเรื่องใดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดใจลงทุน
เพราะนักลงทุนมีข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่า ควรลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่
แต่ละเดือนตลาดหลักทรัพย์ส่งพฤติกรรมที่เข้าข่ายกระทำความผิดเบื้องต้นของบริษัทจดทะเบียนให้ ก.ล.ต. 3-5 กรณี ซึ่งไม่รูว่า ตลาดหลักทรัพย์จะปิดเงียบไว้ทำไม
และทำไมไม่เปิดให้นักลงทุนรับรู้ เพื่อระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหา
จะปกป้องบริษัทจดทะเบียนที่ก่อปัญหา และสร้างความเสี่ยงให้นักลงทุนไว้เพื่ออะไร
ทำไมไม่เปิดโปงตีแผ่พฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิด สกัดไฟแต่ต้นลม ป้องกันความเสียหายนักลงทุนในทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบพบความผิดปกติในทันที
ส่งสัญญาณเตือนนักลงทุน รายงานข้อมูลให้รู้ว่า มีบริษัทจดทะเบียนแห่งใดบ้าง พฤติกรรมเข้าข่ายกระทำความผิดเรื่องอะไรบ้าง ที่จะส่งต่อให้ ก.ล.ต.สอบสวนดำเนินคดี
คดีผู้บริหาร EA ทุจริต สร้างความเสียหายร้ายแรงให้บริษัท ก.ล.ต.รู้มาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่ส่งสัญญาณใดๆ เตือนนักลงทุน และนั่งดูประชาชนโดดลงขุมนรกใน EA ปล่อยให้ความเสียหายร้ายแรงกระจายไปในวงกว้าง
ตลาดหลักทรัพย์เมื่อรู้และเห็นพฤติกรรมของบริษัทจดทะเบียนที่กำลังปฏิบัติการปล้นนักลงทุน จึงควรส่งสัญญาณเตือนภัยนักลงทุนทันที
จะปกปิดและปกป้องหุ้นตัวร้ายไว้ และนั่งดูประชาชนผู้ลงทุนเดินเข้าสู่ขุมนรก โดยเข้าไปลงทุนในหุ้นที่เกิดการโกง ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์เห็นหายนะอยู่ตรงหน้าหรือ