xs
xsm
sm
md
lg

Win-Win เมื่อ TU ยืมเงิน บ.ลูก โบรกฯ เชื่อครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องเกมโยกเงินกลุ่ม “ไทยยูเนี่ยน” ชี้ win-win ทั้งสองฝ่าย จากการกู้ยืมบริษัทลูก 1.1 หมื่นล้านบาท เชื่อบริษัทแม่ต้นทุนทางการเงิน หลังมีแผนนำเงินไปใช้หนี้ ด้านบริษัทลูกกำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้ หลังโชว์สถานะการเงินแข็งแกร่ง ด้านโบรกฯ เชื่อ TU เติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จากหลายกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัว

เมื่อ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อ 6 ส.ค.67 ได้อนุมัติการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันประเภทให้ความช่วยเหลือการเงิน ซึ่ง ITC (บริษัทลูก) ในฐานะผู้กู้ให้กับ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) (บริษัทแม่ถือหุ้นใหญ่ใน ITC สัดส่วน 78.82%) ในวงเงินไม่เกิน 11,000 ล้านบาท โดยมีสัญญาเงินกู้ยืมระยะเวลาไม่เกิน 6 ปีนั้น

ทั้งนี้ วงเงินกู้ยืม 11,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น วงเงินกู้ยืมที่ 1 เป็นเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 3 ปี โดยมีดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.10 ต่อปี และสามารถต่ออายุได้ในแต่ละครั้งไม่เกิน 3 ปี รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี

ส่วนที่เหลือจะเป็นวงเงินกู้ยืมที่ 2 เป็นเงินกู้หมุนเวียน ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 1 ปี โดยมีดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ประกาศโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) บวกร้อยละ 0.10 ต่อปี และสามารถต่ออายุได้ในแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ปี รวมอายุทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี

ทำให้ดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาตามประมาณการที่คาดว่า ITC จะได้รับรวมทั้งสิ้น 1,896 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าตามประมาณการ 12,896 ล้านบาท โดยการให้กู้ของ ITC จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 ก.ย. 2567 ส่วนวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ TU กู้ยืมนั้น บริษัท (TU) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเพื่อใช้ในกิจการทั่วไป และ/หรือเพื่อชำระคืนเงินกู้

ขณะที่แหล่งเงินทุนที่ใช้จะมาจากเงินสดหมุนเวียนเงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาวของบริษัท โดยภายหลังการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว บริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินงาน และไม่กระทบต่อแผนการใช้เงินของบริษัท ซึ่งข้อมูลจาก Set.or.th ระบุถึงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของ ITC ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ระดับ 10,546.79 ล้านบาท

ITC เติบโตต่อเนื่อง

สำหรับ ITC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/67 มีรายได้จากยอดขายรวมที่ 4,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าผลจากความต้องการสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับราคา ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30%

ก่อนหน้านี้ “พิชิตชัย วงศ์ปิยะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ITC กล่าวว่าได้เห็นการฟื้นตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทและภาคอุตสาหกรรม แต่ทำให้ ITC ยังคงคาดหวังการเติบโตของยอดขายที่สูงขึ้นจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาวด้วยยอดขาย 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573

โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 บริษัทมีรายได้จากยอดขายรวม 8,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนของยอดขายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 49% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่เอเชียและโอเชียเนียอยู่ที่ 34% และยุโรปอยู่ที่ 17%

TU หลายธุรกิจฟื้นตัว

ขณะที่ TU มีผลดำเนินงานไตรมาส 2/67 ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถทำยอดขายได้ดีถึง 35,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นขึ้นมาแตะที่ระดับ 18.5% สูงสุดเป็นอันดับสองในรอบ 3 ปี

แต่ประเด็นที่น่าสนใจของ TU นั้นมาจากปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวในไตรมาส 2/67 พบว่ามาจากกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่นำกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียมและการปรับปรุงราคาสินค้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการปรับโครงสร้างทางกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งให้คงเฉพาะธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และผลกำไร

ทำให้ TU ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดครึ่งปีแรก 2567 อัตราหุ้นละ 0.31 บาท กำหนดวันกำหนดรายชื่อ ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล วันที่ 22 สิงหาคม 2567 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 4 กันยายน 2567

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 พบว่า TU ยังประสบความสำเร็จในโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินจำนวน 200 ล้านหุ้นแล้ว พร้อมทั้งดำเนินการจดทะเบียนลดทุนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 25 ก.ค.67

Win-win ได้ประโยชน์ทั้งคู่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีหลายมุมมองต่อแผนธุรกิจดังกล่าวของ TU และ ITC ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากบริษัทลุกที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเงินสดที่ ITC มีอยู่จำนวนมากมาก่อประโยชน์ต่อ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ทั้งในแง่การนำเงินมาขยายการลงทุนหรือชำระหนี้เงินกู้บริษัทก่อนหน้านี้ นั่นเพราะมีต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายคืนที่ต่ำกว่าแหล่งเงินทุนในช่องทางอื่นๆ ขณะเดียวกัน ITC ก็ได้ประโยชน์จากการปล่อยกู้ จากผลตอบแทนที่มาในรูปอัตราดอกเบี้ยที่ให้ประโยชน์แก่บริษัทมากกว่าการถือเงินสดไว้เฉยๆ

ไม่เพียงเท่านี้ การปล่อยกู้ระหว่างบริษัทลูกกับบริษัทแม่รอบนี้ยังไม่สร้างความกังวลให้ตลาดหุ้น เนื่องจากมีรายงานว่าแผนลงทุนที่จะใช้เงิน ITC ได้มีการเลื่อนออกไป ตามภาพรวมอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ทำให้ ITC ยังเหลือเงินสดในมือที่ได้จากการระดมทุน (IPO) ตั้งแต่ปี 2565 ค่อนข้างมาก ขณะที่ TU จะได้ประโชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีจนไม่มีข้อเสียหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากดีลในครั้งนี้ แม้เงินกู้ดังกล่าวจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ก้อน แต่นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามแผนการดำเนินธุรกิจของ ITC ประกอบด้วย นั่นเพราะหากบริษัทต้องการใช้เงินทุน เพิ่มเติมในอนาคตจะมีเงินสดภายหลังจากการให้ TU กู้ยืมแล้ว เหลือเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนมากน้อยแค่ไหน นั่นเพราะบริษัทที่จะเติบโตจำเป็นต้องการการลงทุนเพื่อขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะแสดงถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจที่เป็นไปอย่างมีศักยภาพ

สำหรับกรณี ITC ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทลูก แต่กลับมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า TU เนื่องจากบริษัทไม่มีหนี้ ขณะที่ TU มีภาระหนี้สินประมาณ 66,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาการปล่อยกู้ หรือกู้ยืมเงินระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในตลาดหลักทรัพย์

“เรื่องนี้เรามองว่าเป็นบวกต่อ TU ในแง่ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง จากปัจจุบันต้นทุนของเงินทุนจากการกู้ยืม (cost of debt) ที่ 3.77% ส่วนเงินกู้จาก ITC ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.6-3.1% และ TU ต้องการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้ ITC จากเงินสัดส่วนเกิน (excess cash) ที่มีอยู่ค่อนข้างมาก”

ตลาดไฟเขียว บ.ลูกปล่อยกู้แม่ได้

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา ITC ได้ปรึกษาทางตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว สามารถทำได้ แต่ในมุมของผู้ถือหุ้น ITC อาจรู้สึกมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบในประเด็นอัตราเงินกู้ที่ดูเหมือนอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ITC ออกมาชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวว่า การปล่อยกู้ให้ TU ถือว่าช่วยให้บริษัทรับรู้ผลตอบแทนในรูปแบบอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่าดอกเบี้ยที่บริษัทได้รับในปัจจุบันเฉลี่ยที่ 2.39% จากการฝากเงินกับสถาบันการเงินและถือพันธบัตรรัฐบาล

ไม่เพียงเท่านี้ เงินกู้ที่ ITC ปล่อยให้ TU ยังมีการชี้แจงออกมาจากบริษัทว่า ไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นและมาปล่อยกู้ให้ TU นั่นเพราะเงินส่วนนี้ไม่ได้มาจาก IPO แต่มาจากการดำเนินงาน (operation) อีกทั้งบริษัทไม่สามารถเอาเงิน IPO มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ จึงไม่ผิดในแง่หลักธรรมาภิบาล (CG)

อีกทั้งต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ ITC ก่อน โดยทาง ITC จะมีจัดทำรายงาน IFA report เสนอต่อ ก.ล.ต. เพื่อให้ความเห็นที่จะมีออกมา ก่อนนำเสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป

โบรกฯ เชื่อครึ่งปีหลังเติบโตต่อเนื่อง

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ประเมินแนวโน้มธุรกิจ TU ว่า ล่าสุดผู้บริหารปรับเป้าหมายรายได้ปี 2567 เพิ่มขึ้น 4-5% จากคาดเดิมเพิ่มขึ้น 3-4% เทียบปีก่อน โดยเป็นการเติบโตจากทุกกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีความต้องการเพิ่มขึ้นใน

ขณะที่กลุ่มลูกค้ารับจ้างผลิต private label ดีขึ้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และตะวันออกกลาง จากการปรับสูตรและราคาที่ต่ำลงแต่ยังคงความพรีเมียม และอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า (Value added and others) เพิ่มขึ้นจากธุรกิจส่วนประกอบอาหาร ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และการขยายตลาดไปยังลูกค้าใหม่

นั่นทำให้ปรับคาดอัตราทำกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 18-18.5% จากเดิม 17-18% จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและธุรกิจอาหารแปรรูปที่มีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น และราคาปลาทูน่าที่ลดลง เทียบกับปีที่ผ่านมา แต่คาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นเช่นกันอยู่ที่ 12-12.5% จากเดิมคาด 11-12% จากการทำการตลาดสินค้าแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังเชื่อว่าดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปี 67 มีรับรู้ออเดอร์ที่เลื่อนมาจากไตรมาส 2 ปี 67 บางส่วนจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่ง และปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติแล้ว และต้นทุนปลาทูน่าที่แม้จะเริ่มเพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ช่วยในการขายและบุกตลาดได้มากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่ดี ในแง่ดอกเบี้ยแนวโน้มถ้าลดลงจะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มาก สำหรับค่าเงินปัจจุบันอยู่ในระดับที่พอใจ บริษัทมีการพัฒนาธุรกิจที่ดีขึ้นจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของ ITC มีการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อเร่งการเติบโต 3 ปี (TU มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทางานและว่าจ้างที่ปรึกษาโปรแกรม 2 ปี)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ TU คือการบริหารต้นทุนเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยบริษัทให้ความสำคัญมาก มีการทำเรื่องเหล่านี้มีพัฒนาการดีขึ้น โดยบริษัทมีการปรับลดธุรกิจปรับโครงสร้างลดขนาดธุรกิจแช่แข็งที่ผลประกอบการไม่ดีในอเมริกาและมีการพัฒนาขึ้น สำหรับยุโรปคาดว่าจะผ่านจุดต่ำมาแล้ว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในยุโรป และอังกฤษช่วยทำให้บรรยากาศการทำงานในยุโรปทิศทางดีขึ้น

ส่วนการกู้ยืมเงินกับ ITC วงเงินไม่เกิน 1.1 หมื่นล้านบาท ยังต้องรอผู้ถือหุ้นอนุมัติใน 30 ก.ย.นี้ โดยผู้บริหารมองเป็นเรื่องการบริหารการเงินภายในกลุ่มบริษัทได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และ ITC จะได้ประโยชน์จากมีรายได้ดอกเบี้ยและสามารถเรียกเงินคืนได้หาก ITC ต้องการใช้เงินลงทุนธุรกิจสำหรับ M&A ในส่วนของ TU ต้องการนำเงินไปชาระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

“เรายังคงประมาณการเดิม คาดกำไรปกติจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจาก RL แล้ว และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เติบโต ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลงเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ยังคงประมาณการเดิมคาดกำไรปกติปี 2567F เติบโต 23% เทียบปีก่อน จากดีมาน์ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก และจากการไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจาก Red Lobster (RL) แล้ว และคาดกำไรสุทธิปีถัดไปเพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาปลาทูน่าที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาส่งผลต่ออัตรามาร์จิ้นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น และส่งผลธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (Ambient seafood) มีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น”

ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” จากคาดผลประกอบการเริ่มกลับมาปกติและการไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจากธุรกิจ Red Lobster (RL) แล้ว รวมถึงสถานการณ์ปัจจัยลบต่างๆ เริ่มคลี่คลาย มูลค่าที่เหมาะสมที่ 17.5 บาท อ้างอิง historical PE forward ย้อนหลัง 7 ปี ที่ 14X โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี PER24F ที่ 11.2X และคาด Dividend Yield 24F ที่ 5% สถานะการเงินแข็งแกร่งคาด NetDebt/Equity 24F อยู่ที่ 0.6X




กำลังโหลดความคิดเห็น