รมว.อุตสาหกรรม เร่งสปีดนโยบาย Green Industry เดินหน้า “สินเชื่อ SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก ส่งผ่าน SME D Bank ผนึกหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ปูพรมความรู้คู่พาเข้าถึงแหล่งทุน หนุนเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านใช้พลังงานสะอาด และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งเป้าพาถึงแหล่งทุนกว่า 1,500 ราย สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 68,700 ล้านบาท
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิด “โครงการสินเชื่อ SME Green Productivity ยกระดับเพิ่มผลิตภาพเอสเอ็มอีสู่อุตสาหกรรมสีเขียว” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ จึงสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยยกระดับเพิ่มผลิตภาพเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ “Green Industry”
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวจำเป็นต้องใช้ความรู้ควบคู่เงินทุน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ทว่าปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบที่มีกว่า 3.2 ล้านราย มากกว่าครึ่งเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินในระบบ จำเป็นที่รัฐบาลต้องมาช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ผ่านโครงการ “สินเชื่อ SME Green Productivity” วงเงิน 15,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการดังกล่าวมีจุดเด่นเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียง 3% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี แถมปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือนแรก อีกทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขและหลักทรัพย์ค้ำประกันช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะผ่อนชำระนานเพียงพอที่จะสามารถพัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น โดยตั้งเป้าจะสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มผลิตภาพได้กว่า 1,500 ราย อีกทั้งสร้างประโยชน์ เกิดการจ้างงานกว่า 24,000 อัตรา สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 68,700 ล้านบาท อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประมาณ 345,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank ขานรับนโยบายดังกล่าวโดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เบื้องต้น 11 แห่ง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันยานยนต์ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึง “การพัฒนา” เติมทักษะความรู้ควบคู่กับพาเข้าถึง “แหล่งทุน” ดอกเบี้ยต่ำ นำไปพัฒนา ปรับเปลี่ยนระบบ อุปกรณ์ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีผลิตภาพสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ “สินเชื่อ SME Green Productivity” แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ สาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ