xs
xsm
sm
md
lg

TPCH กำไร 6 เดือนแรกพุ่ง 34.18%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง โชว์กำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกปี 67 แตะ 186.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 34.18% จากงวดเดียวกันปีก่อน ผลจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ 8 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 90.2 เมกะวัตต์ ฟากบิ๊กบอส "กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี" ระบุ เดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ หวังดันกำลังผลิตรวมทะลุ 500 เมกะวัตต์ ในปี 69

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567) มีกำไรสุทธิ 186.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.18% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 139.28 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,227.05 ล้านบาท

ขณะที่งวดไตรมาส 2/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 85.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 28.91 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 605.25 ล้านบาท

ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและประเภทเชื้อเพลิงขยะ จำนวน 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 90.2 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT) กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์

“ผลการดำเนินงานในงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทสามารถทำกำไรเติบโตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 8 แห่ง และจากการขายโรงไฟฟ้าที่มีผลประกอบการที่ขาดทุนออกไป” นางกนกทิพย์ กล่าว

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง TPCH เดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ได้เซ็น PPA เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้มี PPA ในส่วนของโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มเป็น 29.3 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้ บริษัทมุ่งพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพิ่มประมาณ 4 โครงการ ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)

ส่วนการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว โดยเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างและได้เริ่มงานด้านโครงสร้างและรั้วกั้นโซนติดตั้งสถานีไฟฟ้า (Substation) บางส่วนแล้ว และมีการเซ็นสัญญางานวิศวกรรม งานจัดซื้อ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction (EPC Contract) กับผู้รับเหมาจากประเทศจีน พร้อมมีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ

สำหรับการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์

“ในครึ่งปีหลังของปีนี้ บริษัทเดินหน้าพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศและต่างประเทศตามแผน นอกจากนี้ ยังคงเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการในต่างประเทศ เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 350 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและพลังงานขยะ เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัท และผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน” นายเชิดศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น