บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCP เป็นหุ้นน้องใหม่ตัวล่าสุดที่เข้ามาสร้างความเสียหายให้นักลงทุน โดยหลังจากวันแรกมีการลากราคาหรือพยุงราคาหุ้น และยืนเหนือราคาจองได้ แต่การซื้อขายวันที่สองและวันที่สาม ถูกถล่มจนราคาทรุดหลุดจองกว่า 20%
NCP นำหุ้นจำนวน 50 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 50 สตางค์ เสนอขายนักลงทุนในครั้งแรกที่ราคา 2 บาท และเข้าซื้อขายวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเปิดที่ 2.28 บาท ก่อนถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 2.60 บาท หลังจากนั้นอ่อนตัวลงจนปิดที่ 2.02 บาท สูงกว่าจอง 2 สตางค์ หรือสูงกว่าจอง 1%
แต่การซื้อขายวันที่ 1 สิงหาคม ราคาไหลลงมาปิดที่ 1.64 บาท และการซื้อขายวันที่ 2 สิงหาคม ราคาไหลลงต่อมาปิดที่ 1.55 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 45 สตางค์ หรือต่ำกว่าจอง 22.50%
นักลงทุนที่ได้โควตาจัดสรร ถ้าไม่ชิงขายในวันแรกขาดทุนกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกับนักเก็งกำไรที่เข้าไปเล่นหุ้น NCP ในวันแรก และขายออกไม่ทัน ต้องติดดอยตามๆ กัน
นายรณกฤต สารินวงศ์ นักวิเคราะห์หุ้นสายร้อนแรง เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 1 ล้านหุ้น ซึ่งไม่รู้ว่าขายทำกำไร เผ่นออกไปหรือยังติดดอยอยู่
NCP ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและให้บริการทำการตลาดแบบขายตรง (Direct Marketing) ผ่านช่องทางขายทางโทรศัพท์ โดยสินค้าที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการจัดจำหน่ายคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ความสวยงาม และสินค้าเวชสำอาง
ปัญหาหุ้นใหม่ที่กลายเป็นหุ้นเน่า เพราะเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วราคาต่ำจอง ถูกพูดถึงในหลายวาระแล้ว โดยล่าสุด นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ได้พูดถึงหุ้นใหม่ในตลาด MAI ที่ราคาถูกลากขึ้นไป 200% ก่อนทุบลงมาต่ำกว่าราคาจอง ซึ่งต่อไปจะตรวจสอบผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่นำหุ้นใหม่ราคาต่ำกว่าจองเข้ามาซื้อขายบ่อยๆ
การปล่อยหุ้นใหม่เน่าๆ เข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุน นักลงทุนมักพุ่งเป้าโจมตีไปที่ตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่ต้นทางที่อนุมัติการกระจายหุ้นคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ถ้า ก.ล.ต.มีการพิจารณาบริษัทที่ยื่นแบบแสดงคำขอกระจายหุ้นหรือแบบไฟลิ่งอย่างเข้มข้นตั้งแต่แรก โดยเลือกเฟ้นเฉพาะบริษัทที่ดี มีคุณภาพ ธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ยั่งยืน ผู้บริหารมีธรรมาภิบาล และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมีความเป็นมืออาชีพ
ไม่ใช่ช่วยแต่งตัวเลขทางบัญชีของบริษัทใหม่ เพื่อตบตาคณะกรรมการ ก.ล.ต. นักลงทุนในตลาดหุ้นคงไม่ได้รับความเสียหายจากหุ้นใหม่
เพราะหุ้นใหม่ที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นถูกกลั่นกรองในเบื้องต้นจาก ก.ล.ต.ระดับหนึ่งแล้ว และตลาดหลักทรัพย์จะเป็นด่านกลั่นกรองขั้นสุดท้าย
แต่ที่ผ่านมา ก.ล.ต. อาจหละหลวม หย่อนยาน ไร้ประสิทธิภาพ หรือไร้มาตรฐานในการพิจารณาอนุมัติการกระจายหุ้นบริษัทจดทะเบียนใหม่
หุ้นเน่าๆ นับร้อยบริษัทจึงถูก ก.ล.ต.ปล่อยผ่านเข้ามาปล้นเงินในตลาดหุ้น และแม้จะสร้างความเสียหายให้นักลงทุน แต่กลับไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อหุ้น ซึ่งอ้างเป็นกระบอกเสียงของนักลงทุน
เพราะบริษัทที่ปรึกษาการเงินตัวแสบที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จะแนะนำให้บริษัทจดทะเบียนใหม่จัดงบก้อนโตเพื่อปิดปากสื่อหุ้น จนกลายเป็นสุนัขเชื่องๆ ไม่เห่าไม่หอนหุ้นใหม่ที่ตั้งราคาขายสูงเกินจริง
ไม่โจมตีหุ้นใหม่ที่สร้างราคาหุ้นในวันแรก ลากขึ้นไป 200% ก่อนทุบลงมาต่ำจอง แถมยังแก้ตัวแทนหุ้นใหม่เน่าๆ ให้อีกด้วย
ก.ล.ต.น่าตระหนักถึงการอนุมัติการเสนอขายหุ้นของบริษัทใหม่ เพราะถ้าปล่อยหุ้นเน่าๆ หรือปล่อยกิจการที่ธุรกิจอาจไม่มีความยั่งยืนเข้าระดมทุน จะทำให้ ประชาชนผู้ลงทุนต้องเผชิญความเสี่ยง และเกิดความเสียหายตามมา ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับนักลงทุนนับล้านคน
ธุรกิจขายตรง ธุรกิจเครื่องสำอาง ความงาม และอาหารเสริม เข้ามาในตลาดหุ้นแล้วนับสิบบริษัท ก.ล.ต.เคยพิจารณาทบทวนหรือไม่ว่า หุ้นธุรกิจขายตรง หุ้นอาหารเสริม เครื่องสำอาง หรือความงามมีกี่บริษัทที่เจริญรุ่งเรือง โดยนักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีและคุ้มค่ากับการลงทุน
และมีกี่บริษัทที่ ก.ล.ต.ปล่อยผ่านมาแล้ว สร้างความเสียหายให้นักลงทุน จะมีเพียงหุ้นบริษัท บิ้วตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ที่ราคาหล่นจาก 23 บาท มาเหลือเพียง 46 สตางค์ในวันนี้
หรือหุ้นธุรกิจขายอาหารเสริม เครื่องสำอาง และความงามทั้งหมดที่เน่าคากระดานหุ้น ซึ่งรวมทั้งหุ้น NCP ตัวล่าสุดด้วย
การปล่อยหุ้นเน่าเข้ามาปล้นเงินนักลงทุนในตลาดหุ้น อย่าโยนความผิดให้ ตลาดหลักทรัพย์รับเละแต่หน่วยงานเดียว
เพราะ ก.ล.ต.เป็นต้นทางที่ปล่อยผ่านให้หุ้นเน่าๆ หลุดเข้ามา