xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT ลุ้นสินเชื่อรายใหญ่ปีนี้แตะแสนล้าน เดินหน้าหนุนผู้ประกอบการไทยไปโตอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ของธนาคารในปีนี้คาดการณ์ ณ สิ้นปีจะมียอดคงค้างประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ในระดับ 80,000 ล้านบาท และอยู่ในระดับ 90,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศมียอดคงค้างอยู่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่อีกประมาณ 300-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับยอดธุรกรรมที่ผู้ประกอบการต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในไทยที่มียอดประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเทรนด์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ธุรกิจด้านความยั่งยืน AI อาหาร เป็นต้น ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อรายได้ (NPL) ลดลงมาอยู่ที่ 1.7% ลดลงจากปลายปีก่อนที่ประมาณ 2% โดยธนาคารยึดหลักการปล่อยกู้อย่างระมัดระวังเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในส่วนของ Mega Trend ที่น่าจับตามองในช่วงนี้มี 4 กลุ่มหลักได้แก่ 1.Sustainability หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นตลาดเกิดใหม่ไม่ว่าในเรื่องของพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์รีไซเคิลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิตได้ในทุกภาคส่วน ทำให้เกิดความต้องการที่เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง 3.Food Security หรือความมั่นคงทางอาหารเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศใหญ่ๆ หันมาให้ความสำคัญกันมากโดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรและการเติบโตของประชากรสูง 4.Consumer Behavior หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นเรื่องของความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงแหล่งข้อมูลของสินค้าที่ต้องการโดยง่าย ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยสรุป เทรนด์ที่กำลังมาบวกกับจุดเด่นของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ให้ทางภาคธุรกิจอย่างแน่นอน และ CIMB พร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตไปในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน เรามีผู้เชี่ยวชาญที่มี Know-how และ Network ทำงานประสานใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นที่รู้จักตลาดเป็นอย่างดี เรียกว่าเป็น ASEAN total solutions

"ประเทศไทยยังมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ นำโดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว AI DATA CENTER เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าภาพรวมของสถานการณ์โลกจะมีความผันผวน สงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีท่าทีรุนแรงขึ้น แต่เรามองว่าอาเซียนยังคงเติบโตได้ และยังเห็นถึงโอกาสหากผู้ประกอบการมีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือ รวมถึงมีผู้แนะนำที่เชี่ยวชาญและมีเครือข่ายที่พร้อม ซึ่งซีไอเอ็มบีมีความเชี่ยวชาญและมีเครือข่ายครบถ้วนในอาเซียน"

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “Think ASEAN, Think CIMB” จัดขึ้นโดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เพื่อฉลองวันแห่งอาเซียนซึ่งตรงกับวันที่ 8 เดือน 8 ของทุกปี ว่า

“ท่ามกลางสถานการณ์โลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึง ดูจะส่งผลต่อการเติบโตใน ASEAN อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นโยบายภาพใหญ่ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่น่าแตกต่าง เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามการค้า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเรื่อยๆ โดยอาเซียนได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ อิทธิพลการค้าจีนกับอาเซียนเพิ่มเป็นทวีคูณ ขณะเดียวกัน อาเซียนหลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น แม้แต่สิงคโปร์ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก็ขาดดุลลดลง ส่วนสหรัฐฯ ก็ขาดดุลการค้ากับอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากอาเซียนรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่ได้ไม่ดีพอ การค้าโลกที่มีความเสี่ยงจะลดลงอาจกระทบกับการค้าและการเชื่อมโยงด้านการลงทุนของอาเซียนได้” ทั้งนี้ ประโยชน์และผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ความน่าดึงดูดในการลงทุน และสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ

ขณะที่ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกลดลง 2% สู่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาไส้ใน พบว่า FDI ในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น 1% เป็น 2.26 แสนล้านดอลลาร์ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับ FDI มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตามรายงานการลงทุนโลกปี 2567 โดย UNCTAD สะท้อนภาพชัดว่าโลกกำลังย้ายฐานการผลิตมา ASEAN

น.ส.ปนิดา ตั้งศรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันการเงินประเทศไทย และ CLMV ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจในอาเซียน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเม็ดเงินที่จะเข้าไปสนับสนุน ทั้งการเข้าไปลงทุนโดยตรง (direct investment) การลงทุนผ่านหลักทรัพย์ต่างๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ หุ้นกู้ (indirect investment) อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนยังดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างระมัดระวัง และมีกฎเกณฑ์ในการเคลื่อนย้ายเงินทุนค่อนข้างเข้มงวด นักลงทุนที่เห็นโอกาสเติบโต จึงมองหาธนาคารที่เข้าใจกฎเกณฑ์เหล่านี้ และให้คำแนะนำได้ดีที่สุด อีกทั้งมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ดูแลค่าเงินและดอกเบี้ยที่มีความผันผวนสูง ให้ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง CIMB ตอบทุกความต้องการ

นอกจากนี้ CIMB Group และ CIMB THAI ยังได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้บริการ Cross-border QR Payment ความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มุ่งเน้นส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ผู้ที่เดินทางไป 7 ประเทศในอาเซียน (Malaysia, Indonesia, Singapore, Thai, Cambodia, Vietnam, Lao) รวมถึงฮ่องกงและญี่ปุ่น ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด เพราะสามารถใช้จ่ายโดยสแกน QR ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารในประเทศไทย และชำระเงินได้ทันที โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นหนึ่งในธนาคารที่ร่วมผลักดันโครงการนี้ ระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-อินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น