xs
xsm
sm
md
lg

แฉบัญชีมาร์จิ้น “พุ่มเสนาะ” ปล่อยถูกฟอร์ซเซล ซ้ำเติมราคา “CIG” ดิ่งเหว รายย่อยรับกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบอีกหนึ่งบัญชีมาร์จิ้น คนตระกูลพุ่มเสนาะ วางหุ้นCIGกู้ยืมเงินลงทุนหุ้น พอหุ้นโดนForce Sell แถมยังมีส่วนให้ชำระอีกร่วม 6 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการส่อถดถอยต่อเนื่อง มาร์เกตแคปหด กราฟราคาหุ้นมีแต่ดิ่ง

หากจะพูดถึงการรุ่งโรงโรจน์ของราคาหุ้น บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CIG) คงต้องเท้าความไปถึง ก.ย.2564 ซึ่งราคาหุ้นเคยขึ้นไปสูงสุดประมาณ 0.94 บาท/หุ้น แต่จากนั้นราคาหุ้นมีแต่ดิ่งกับดิ่งจนปัจจุบัน (26ก.ค.67) มีราคาอยู่ที่ 0.05 บาท/หุ้น ลดลงกว่า 1,780%

สำหรับ CIG เดินธุรกิจบริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตคอยล์เย็น (Evaporator Coil) คอยล์ร้อน (Condenser Coil) และคอยล์น้ำเย็น (Chilled Water Coil) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักของอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อน/ความเย็นทุกประเภท โดยเป็นการผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้า (Made to Order) เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ พบว่า UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED ถือหุ้นในสัดส่วน 10.95% ตามมาด้วยบริษัท ฟิน ลิสซิ่ง จำกัด สัดส่วน 9.26% ถัดมาคือ บริษัท เอเชีย โกรว์ธ ออพพอร์ทูนิตี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด สัดส่วน6.17% และนาย ชาญยุทธ บุณยเกตุ สัดส่วน 5.60% ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม “พุ่มเสนาะ” เหลือเพียง “อารีย์ พุ่มเสนาะ” สัดส่วน 3.37% และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ของบริษัท ขณะที่จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่ที่ 4,337 ราย หรือคิดเป็น Free Float 62.35%

***ขาดทุนต่อเนื่อง-มาร์เกตแคปหด
ด้านผลประกอบการพบว่า ในช่วงปี 2563 – 2565 บริษัทขาดทุนต่อเนื่องในระดับ 122 – 141 ล้านบาท โดยมีรายได้รับ 1,000 ล้านบาท/ปี ต่อมาปี 2566 รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 623 ล้านบาท แต่เป็นปีแรกในรอบ4ปี ที่บริษัทกลับมามีกำไรสุทธิ 5.86 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส1 ปีนี้ บริษัทมีรายได้เพียง 107 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิไปแล้ว 39 ล้านบาท

และจากผลประกอบการที่ถดถอยต่อเนื่อง ทำให้มาร์เกตแคปของหุ้น CIG ลดลงต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยปี 2563 อยู่ที่ 207.55 ล้านบาท ต่อมาปี 2564 อยู่ที่ 683.18 ล้านบาท ปี2565 อยู่ที่ 423.75 ล้านบาท และปี2566 อยู่ที่ 329.61 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกปี2567 มาร์เกตแคปลดลงมาอยู่ที่ 180.58 ล้านบาท

***เอาไปวางบัญชีมาร์จิ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ CIG นอกเหนือจากผลประกอบการที่ไม่เป็นใจ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้บริหารและผุ้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือมาร์จิ้น กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยง เหตุการณ์แบบนี้เพิ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนั่นคือกรณีของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)เมื่อเร็วๆนี้

แต่ขณะที่ความชัดเจนและการสะสางปัญหาของ EA ยังไม่จบสิ้น ก็มีรายงานว่าผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของ CIG ก็ใช้วิธีเดียวกันและกำลังถูกฟ้องร้องจากโบรกเกอร์
มีรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องนางสาวอริสา พุ่มเสนาะ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เนื่องจากนางสาวอริสา ได้เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Credit Balance Agreement)กับบริษัท โดยใช้หุ้น CIG จำนวน 280,616,901 หุ้นวางเป็นประกัน เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566

เหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจากนางสาวอริสา ได้ทำการซื้อขายหุ้นหลายรายการ โดยใช้วงเงินจากเงินกู้ยืม Credit Balance ทำให้มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระให้กับ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม นับจนถึงวันที่ 17 ต.ค. 2566 (วันก่อนหน้าวันที่มูลค่าหลักประกันที่ต้องดำรงไวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ) รวมเป็นต้นเงินทั้งสิ้นจำนวน 28,192,227.52 บาท

**Force Sell หุ้น CIG
ต่อมาวันที่ 18 ต.ค.2566 ปรากฏว่ามูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันลดลงต่ำกว่าเงื่อนไข “มูลค่าหลักประกันที่ต้องดำรงไว้” (อัตราร้อยละ 40) บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม จึงได้มีหนังสือให้นางสาวอริสา นำเงินสดหรือหลักทรัพย์มาวางเพิ่มเติมภายใน 5 วัน แต่ปรากฏว่าไม่มีการนำเงินสดหรือหลักทรัพย์มาวางเพิ่มเติมให้แก่บริษัท ทำให้บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ดำเนินการบังคับขายหลักทรัพย์ที่วางเป็นหลักประกันไว้ (Force Sell) เพื่อนำเงินที่ได้มาบังคับชำระหนี้เงินกู้ยืมที่คงค้าง โดยได้เริ่มบังคับขายหุ้น CIG ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.2566 เป็นต้นมา

แต่ปรากฏว่า นางสาวอริสา ยังคงมีหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มแก่ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ภายใต้สัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เป็นจำนวน 5,536,193.121 บาท แต่ด้วยการที่ไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ภายในครั้งเดียว ทำให้ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้และมีผลให้เงินที่ค้างชำระเพิ่มขึ้นเป็น 5,557,722.77 บาท ขณะที่ภายหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว นางสาวอริสา ต้องรับสภาพถึงอัตราดอกเบี้ยจากจำนวนหนี้ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนัยบตั้งแต่วันที่ทำหนักสือรับสภาพหนี้จนถึงวันที่ชำระหนี้ครบถ้วน

โดยนางสาวอริสาตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนรวมทั้งสิ้น 6 งวด โดยจะชำระหนี้ทั้งวันที่ 25 ของแต่ละเดือนในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 1,000,000 บาท และงวดที่ 6 งวดสุดท้ายจำนวน 772,359.03 บาท เริ่มชำระวันที่ 25 พ.ย. 2566

พร้อมกันนี้นางสาวอริสา ได้นำทรัพย์สินในบัญชีประเภทแคชบาลานซ์ (Cash Balance) เลขที่ 0001174-7 คือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญของ GIG จำนวน 50 หุ้นมาจำนำไว้เป็นหลักประกัน และยินยอมให้ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม เรียกชำระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 28 ต่อปีนัยตั้งแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน แต่ปรากฏว่านางสาวอริสา ไม่ยอมชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก แม้ทางบริษัทจะมีหนังสือทวงถามไปแล้วหลายครั้ง

***ยื่นศาลบังคับชำระหนี้
ทำให้ปัจจุบันนางสามอริสา มีหนี้ที่ต้องชำระให้แก่ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม แบ่งเป็นเงินต้นจำนวน 5,557,722.77 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี (คำนวณตั้งแต่ 6พ.ย.66 – 25 พ.ย.66) และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อัตราร้อยละ 28ต่อปี (26พ.ย.66 – 30 เม.ย.67) เป็นเงินจำนวน 718,335.67 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,276,058.44 บาท
จนเป็นให้ บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม ขอให้ศาลบังคับนางสาวอริสา ชำระเงินให้แก่บริษัทจำนวน 6,276,058.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระอัตราร้อยละ 28ต่อปีของจำนวยนเงินต้น 5,557,722.77 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ทั้งนี้ นางสาวอริสา พุ่มเสนาะ มีรายชื่อปรากฏในแบบรายงานการกระจายหุ้นของ CIG ว่าเป็นบุตรของนายอารีย์ พุ่มเสนาะ 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แต่ไม่ปรากฏข้อมูลการเป็นผู้บริหารใน CIG

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เชื่อได้ว่า การถูกบังคับขายหุ้น (Force Sell) ของนางสาวอริสา ถือเป็นอีกหนึ่งมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้น CIG ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนมีผลเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 4 พันรายได้รับความเสียหาย และถือเป็นประเด็นที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้กับตลาดหุ้นไทยที่ปัจจุบันความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนยิ่งลดน้อยลงไปมาก

***ปีก่อนตามรอยSTARK
ขณะเดียวกัน เมื่อปีที่ผ่านมา ข่าวของCIG ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในตลาดหุ้น เมื่อบริษัทหันมาเล่นบทบาทเดียวกับ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้า 724 ล้านบาท เพื่อลงทุนและวางเงินประกันแต่กลับไม่ได้รับโอนกิจการ

เหตุการณ์เกิดขึ้นจากข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/66 ชวนน่าสงสัยหลังพบว่าบริษัทมีการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าหุ้นและการวางเงินประกันความเสียหายเพื่อ Due Diligence รวม 724 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 84% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าหุ้นทั้งจำนวน ทั้งที่หุ้น ดังกล่าวเป็นหุ้นที่คณะกรรมการตรวจสอบได้เคยให้เพิ่มความระมัดระวังในการทำรายการ และต่อมาพบว่าดีลดังกล่าวมีการเลื่อนระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์และปรับรูปแบบการลงทุนในภายหลัง

ต่อมา ตลท.ให้ CIG ออกมาชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูล ภายในวันที่ 16 ต.ค. 66 และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ CIG พร้อมติดตามคำชี้แจงของบริษัทก่อนพิจารณาลงทุน ทำให้หุ้นราคาหุ้นที่มีทิศทางอ่อนตัวลงอยู่แล้ว ยิ่งหาสัญญาณฟื้นตัวในระยะสั้นได้ยากขึ้นไปอีก จากราคาหุ้นที่เคยเคลื่อนไหวระดับ 0.50-0.60 บาท/หุ้นในช่วงต้นปี ราคา หุ้น CIG ลงไปเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.20 บาท/หุ้น

สำหรับที่มาของการสั่งให้บริษัทออกมาชี้แจง เนื่องจาก CIG ได้นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2/66 โดยผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่กลุ่มบริษัทมีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าหุ้นและวางเงินประกันความเสียหายเพื่อตรวจสอบสถานะของบริษัทเป้าหมาย (Due Diligence) หลายบริษัท

นั่นเพราะจำนวนเงินดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินของบริษัท เพราะเป็นการจ่ายล่วงหน้าในจำนวนมากก่อนที่จะได้รับโอนหุ้น/กิจการ อีกทั้งยังมีการเลื่อนการรับโอนหุ้นและปรับรูปแบบการลงทุน หลากหลายรูปแบบ
ไม่เพียงเท่านี้ประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯสงสัยในการดำเนินงานของ CIG นั่นคือ ที่ผ่านมาบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตรวจสอบหลายครั้ง โดยปัจจุบันคณะกรรมการตรวจสอบที่ขอให้คณะกรรมการบริหารเพิ่มความระมัดระวังในการทำรายการซื้อหุ้น IGU ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัททั้ง 3 ท่าน

***กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ CIG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งแต่ปี 2548 ด้วยราคาไอพีโอ 2.75 บาท/หุ้น เมื่อพิจารณาจากราคาที่ซื้อขายในปัจจุบัน 0.19 บาท/หุ้น พบว่าลดลงกว่า 93% โดยมีหัวเรือในการบริหารคือ "อารีย์ พุ่มเสนาะ"
แต่สิ่งที่เริ่มเห็นถึงสัญญาณในการเปลี่ยนแปลงของ CIG นั่นคือ การเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) ที่เกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 66 ซึ่ง "กลุ่มพุ่มเสนาะ" นำโดย "อริสา พุ่มเสนาะ" ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 306 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.65% ที่ราคาหุ้นละ 0.50 บาท รวมมูลค่า 153 ล้านบาท ทำให้ถือหุ้นใน CIG เพิ่มเป็น 23.68% จากเดิมถือ 12.10% ขณะที่ "ธีระ พุ่มเสนาะ" ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 400 ล้านหุ้น คิดเป็น 23.07% ในราคาเดียวกัน รวมมูลค่า 200 ล้านบาท ทำให้ถือหุ้นใน CIG เพิ่มเป็น 24.46% จากเดิม 1.39%

จากนั้นไม่นาน "ธีระ" ก็นำหุ้น CIG ออกมาเทขาย 400 ล้านหุ้น หรือ 23.07% ส่งผลให้เหลือ 12 ล้านหุ้น หรือ 0.69% แต่ยิ่งแปลกใจเพิ่มขึ้นเมื่อราคาที่ขายหุ้นออกไปกลับมีราคาเดียวกับราคาหุ้นที่เพิ่งซื้อมา 0.50 บาท/หุ้น ยิ่งทำให้นักลงทุนเกิดความสงสัยมากขึ้น

ขณะที่ผู้รับซื้อหุ้นจาก "ธีระ" คือ "ชาญยุทธ บุณยเกตุ" นักธุรกิจที่ไม่เคยมีข่าวในวงการตลาดหุ้นไทย ไม่มีใครทราบที่มาที่ไปแน่ชัด แต่การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน CIG หลายฝ่ายมองว่า คงไม่ธรรมดา เพียงแต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นการลงทุนส่วนตัว หรือตัวแทนของใคร?
อย่างไรก็ตาม หลังการเพิ่มทุนแล้วเสร็จจนเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจว่า เมื่อมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามาร่วมมือแล้ว CIG จะดำเนินธุรกิจไปในทิศทางใด?

ด้วยเพราะในช่วงเวลานั้นมีข่าวว่า บริษัทกำลังเบนเข็มทางธุรกิจ มองหาธุรกิจใหม่ๆเข้ามาช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง หลังจากบริษัทขาดทุนต่อเนื่องหลายปีสะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น