xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ผลิตยางพารายิ้มรับดีมานด์ EU ออกกฎ EUDR กระแส EV คึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นยางพาราคึก รับดีมานด์พุ่ง อานิสงส์พลังงานสะอาดและรักสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนใช้รถยนต์ EV ขณะ EU จะเริ่มบังคับใช้ยางคุณภาพ EUDR ในปี 68 ส่งผลดีต่อผู้ผลิตและส่งออกยาง EUDR ไปยุโรป อย่าง “ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี” และ “ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ผู้บริหารทั้งสองบริษัทมั่นใจยอดขายยางปีนี้พุ่ง โบรกฯ เชียร์ซื้อ STA และ STGT แจงปัจจัยหนุนอื้อ

หลังจากทั่วโลกให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการสนับสนุนด้านพลังงานสะอาด ทำให้เกิดกระแสทิศทางการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์สันดาปที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยุโรปจะเลิกจำหน่ายรถยนต์สันดาปในปี 2578 รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ซึ่งยุโรปออกกฎ EUDR หรือยางพาราที่ผลิตตามกฎหมาย สินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า ที่จะบังคับใช้ปี 2568 เหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนอุตฯ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ และด้วยจำนวนยานพาหนะจะเพิ่มมากขึ้น ขณะ EV car มีน้ำหนักตัวรถและแรงม้าที่สูงกว่าจะทำให้มีอัตราการสึกหรอของยางเพิ่มสูง ทำให้อนาคตอัตราการใช้ยางทั้ง new car และ replacement demand จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตฯ ยางในไทยย่อมได้ประโยชน์จาก EUDR ด้วย เพราะไทยเป็นผู้ซัปพลายอันดับหนึ่งของโลก

จากกระแสดังกล่าวส่งผลดีต่อผู้ผลิตยางพาราของโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 บริษัทผู้ผลิตอย่างบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH ที่ผลิตและส่งออกยาง EUDR ทำให้รับรู้รายได้เข้ามาแล้ว ขณะที่ราคาหุ้นทั้งสองบริษัทรับข่าวไปแล้ว ล่าสุดเช้าวันที่ 31 ก.ค. หุ้น STA ปิดที่ 19.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาทหรือ 2.08% มูลค่าซื้อขาย 44.01 ล้านบาท ขณะที่ TEGH ปิดที่ 3.36 บาท เพิ่มขึ้น 0.18 บาท หรือ 5.66% มูลค่าซื้อขาย 7.32 ล้านบาท

โบรกฯ มอง STA –STGT รับอานิสงส์เต็มๆ 

บล.ฟิลลิป ประเมินหุ้นกลุ่มธุรกิจการเกษตร แนะนำ "ลงทุนมากกว่าตลาด" เพราะพลังงานสะอาดจะทำให้เกิดดีมานด์ใช้ยางเพิ่มขึ้น ปัจจุบันโลกให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV แทนรถยนต์สันดาปจะมากขึ้นในอนาคต โดยยุโรปจะเลิกจำหน่ายรถยนต์สันดาปในปี 2578 รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ จะต้องมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยยุโรปออกกฎ EUDR ที่จะบังคับใช้ปี 2568 เหล่านี้จะเปลี่ยนอุตฯ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ แม้ปัจจุบันมีการเกิดสงครามราคารถยนต์ EV จากจีน แต่สิ่งหนึ่งที่จะได้ประโยชน์จากกำลังผลิต EV ที่เพิ่มขึ้นมาทดแทนรถสันดาปคือชิ้นส่วนประกอบโดยเฉพาะล้อยาง ด้วยจำนวนยานพาหนะจะยังเพิ่มมากขึ้น และถูกทดแทนด้วย EV car ซึ่ง EV car มีน้ำหนักตัวรถและแรงม้าที่สูงกว่าจะทำให้อัตราการสึกหรอของยางเพิ่มสูงจำเป็นต้องใช้ยางที่มีสมรรถนะเพิ่ม ทำให้อนาคตอัตราการใช้ยางทั้ง new car และ replacement demand จะเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ไทยกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่ผลิตยางได้มากที่สุดของโลกด้วยสัดส่วน 35% ของผลผลิตยางโลก แต่เพราะอินโดนีเซียลดกำลังการผลิตรวมถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอในบางปี ทำให้ปริมาณซัปพลายยางไม่เพิ่มขึ้นได้เท่ากับปริมาณความต้องการยางทั้งจากการผลิตยางรถใหม่ และการเปลี่ยนยางรถเก่า ที่มีความต้องการ 65% รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบอื่นๆ เติบโตไม่ทันความต้องการ ส่งผลให้บริษัทยางขายยางในราคาที่สูงขึ้นได้ ซึ่งโอกาสในการยกระดับอุตฯ ยางในไทย ดีมานด์ยางจากยุโรปคิดเป็น 30% ของดีมานด์ยางทั่วโลกหรือราว 4 ล้านตัน/ปี ที่กำลังจะปรับใช้กฎ EUDR ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดคือไทย มีความสามารถพัฒนาซัปพลายยาง EUDR ได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จะทำให้ดีมานด์จาก EUDR จะเข้ามาในไทยเป็นหลัก รองมาคือ Ivory coast และอินโดนีเซียตามลำดับ ทำให้ไทยจะได้ประโยชน์จากดีมานด์ EUDR ที่เหลืออยู่ราว 2.7 ล้านตัน/ปี ถือว่าหากปรับใช้กฎ EUDR จะทำให้เกิด supply shortage ในส่วนนี้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ไทยมีผลผลิตราว 5 ล้านตันต่อปี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ไทยขายยางให้จีนเป็นหลัก จะถูกเปลี่ยนมาเป็นขายให้ยุโรปเพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับอุตฯ ยางในไทย และผู้ประกอบการยางในไทยที่จะมีกำไรมากขึ้น ด้วยข้อดีของ EUDR คือการซื้อขายแบบ cost plus อิงราคายางในประเทศ ทำให้ลดความผันผวนจากการซื้อขายอิงราคายางในตลาดโลก และลดความผันผวนจากค่าเงิน จึงชอบ STA หรือบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เพราะเริ่มซื้อขายแบบ commercial แล้ว และบวกกำไรขั้นต้นได้ถึง 15% เทียบกับปัจจุบันที่มีอัตรากำไรขั้นต้นจากยางธรรมชาติที่ 7.7% ใครที่มีสัดส่วนรายได้จาก EUDR มาก จะมีความสามารถในการทำกำไรได้สูงกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน STA พยายามเร่งปรับสัดส่วนการขายเป็น EUDR ให้ได้มากที่สุด เพื่อรับประโยชน์จากกำไรที่สูง เชื่อว่า STA เป็นผู้ซัปพลายยางอันดับ 1 ของโลก

 บล.กรุงศรี มองว่า ราคาหุ้นยางพาราที่ส่งออกไปยุโรปจะได้อานิสงส์ หลังคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ประกาศเรียกเก็บภาษีพิเศษรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้าจากจีนเท่ากับกีดกันยางล้อจากจีนด้วย ทำให้การส่งออกยางจากไทยไปยุโรปและประเทศที่ผลิตยางล้อทั่วโลกมีโอกาสเพิ่มขึ้น อีกทั้ง EU จะเริ่มบังคับใช้ยางคุณภาพ EUDR ในปี 68 ซึ่งไทยมี 2 รายที่ผลิตและส่งออกยาง EUDR ไปยุโรป คือ STA และ บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH) นั่นจึงแนะนำซื้อหุ้น STA และ TEGH

 บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ "ซื้อ" หุ้น STA หลังจากพบว่าราคาได้ปรับลงบ้างจากประเด็นที่สหรัฐฯ และหลายประเทศส่งจดหมายขอให้ EU พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎ EUDR เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าเกษตรยังไม่มีความพร้อม ทำให้ยอดขายยาง EUDR ของ STA มี Downside Risk ล่าสุดต้นเดือน 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ทาง EU ตอบจดหมายว่ายังไม่มีการพิจารณาเลื่อนใช้กฎ EUDR แต่อย่างใด

โดยคาดจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง EU Commission แล้วและยังให้น้ำหนักกับโอกาสในการไม่เลื่อนสูง เพราะกฎดังกล่าวมีการบังคับใช้เบื้องต้นแล้ว และจะใช้เต็มรูปแบบใน 30 ธันวาคม 2567 นี้ และแม้ไม่รวมเรื่อง EUDR แต่ราคาหุ้น ปัจจุบันถือว่ายังต่ำเทียบกับสถานการณ์เดียวกันในอดีตที่ราคายาง SICOM อยู่ที่ +/-160 Cent/kg ราคาหุ้นมักปรับขึ้นเหนือ 1.0 P/BV แต่ปัจจุบันอยู่ที่เพียง 0.6 เท่า บนอุตสาหกรรมที่มี Upside จาก EUDR

ทั้งนี้ บล.หยวนต้า คาดกำไรปกติไตรมาส 2 ปีนี้ของ STA อยู่ที่ 294 ล้านบาท พลิกกลับมามีกำไรได้ในรอบ 5 ไตรมาส จากราคาขายเฉลี่ยยางและถุงมือยางที่สูงขึ้นหนุน GPM และประเมินแนวโน้มกำไรของ STA จะเร่งตัวขึ้นต่อในไตรมาส 3 จากการรับรู้รายได้จากยาง EUDR มากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าปริมาณขายยาง EUDR ไตรมาส 3 ปีนี้ที่ 6.5 หมื่นตัน และราคาน้ำยางที่ปรับลง ทำให้บริษัทจะรับรู้ต้นทุนใหม่ที่ราคาต่ำได้มากขึ้น และคงประมาณการกำไรปกติทั้งปี 2567 ที่ 1,721 ล้านบาท และคาดกำไรปี 2568 ที่ 3,842 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123.3% จากการรับรู้รายได้ EUDR เต็มปี

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้เลือกหุ้น STA เป็น Top Pick สำหรับหุ้นกลุ่มเกษตร และอาหาร มองว่าราคาที่ย่อลงมาเป็นโอกาสในการเข้าสะสม และราคาหุ้นปัจจุบันยังคาดหวังอัตราเงินปันผลตอบแทนได้ที่ 7% ต่อปี มองว่าช่วยจำกัด Downside ของราคาหุ้นจากนี้ ให้ราคาเป้าหมายที่ 33.70 บาท

 STA เพิ่มขายยาง EUDR ดันกำไรขั้นต้นรับดีมานด์พุ่ง 

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร STA เผยว่า บริษัทเริ่มจัดส่งออเดอร์ยาง EUDR ซึ่งเป็นยางธรรมชาติที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) แหล่งที่มาของผลผลิต เพื่อแสดงว่าไม่ได้มาจากพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าและไม่ได้อยู่ในพื้นที่บุกรุกป่า ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าจากยุโรปและเอเชียติดต่อสั่งซื้อยาง EUDR มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่สหภาพยุโรป (อียู) จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้

ล่าสุด STA วางแผนเพิ่มปริมาณการขายยาง EUDR โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขายยาง EUDR ต่อเดือนเป็น 50% ภายในสิ้นปี 2567 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% ในปี 2568 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าจะมีสัดส่วนขายยาง EUDR 10% ของปริมาณการขายยางธรรมชาติในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งเป้าปริมาณขายยางธรรมชาติอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 125,000 ตัน ในปี 2567 เพราะราคาขายยาง EUDR จะเป็นลักษณะ Cost Plus Model

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีความพร้อมรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของผลผลิตตามกฎหมาย EUDR ขณะ STA เป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมขายยาง EUDR เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของไทย เนื่องจากได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Sri Trang Friends” (ศรีตรังเพื่อนชาวสวน) และ “Sri Trang Friends Station” (ศรีตรังเฟรนด์ส สเตชัน) เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลผ่านระบบ GPS และได้ร่วมกับเกษตรกร-ผู้ค้ายางจัดทำฐานข้อมูลที่ดินในการปลูกยาง รวมถึงได้เปิดตัว “ยางมีพิกัด (GPS)” ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ เพื่อแสดงความพร้อมตอบรับข้อกำหนด EUDR จากยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต

โดย STA มองว่าการขายยาง EUDR เป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางของไทย และบริษัทที่มีความพร้อมด้านระบบตรวจสอบย้อนกลับบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่ผลการดำเนินงานและเพิ่มอัตราการทำกำไรขั้นต้นของบริษัท เนื่องจากมีดีมานด์ค่อนข้างมากและขายได้ในราคาสูงกว่ายางปกติ และไม่ต้องอ้างอิงกับราคายาง SICOM (ราคาตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์) แต่อิงกับราคายางพาราในไทยแทน

ขณะภาพรวมอุตสาหกรรมยาง EUDR คาดว่าจะมีความต้องการยางธรรมชาติจากยุโรปทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 4 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 30% ของดีมานด์ทั่วโลก โดยปัจจุบันประเทศที่มีความพร้อมผลิตยาง EUDR คาดจะมีเพียง 3 ราย คือไทย ไอวอรี่โคสต์และอินโดนีเซียบางส่วน ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก หรือ 30% ของซัปพลายโลกโดยรวม ขณะที่ไอวอรี่โคสต์และอินโดนีเซีย คาดว่าจะซัปพลายยาง EUDR ได้ราว 7% ของซัปพลายโลก สะท้อนให้เห็นว่าซัปพลายยาง EUDR ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

TEGH ขายยางปีนี้สร้างสถิติใหม่ เหตุ EUDR หนุน 

น ส.สินีนุช โกกนุทาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ TEGH เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับแผนเข้าสู่โหมด Sustainability to Profitability หรือ การเติบโตอย่างยั่งยืนสู่การสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน จาก 3 สายธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ และธุรกิจด้านผลิตพลังงานทดแทนและการบริหารจัดการกากอินทรีย์ ซึ่งภายหลังจากระดมทุน ที่บริษัทเดินหน้าขยายกำลังการผลิตยางแท่งตามแผน โดยสิ้นปี 2567 กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 3.9 แสนตัน เทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2 แสนตัน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และปี 2568 กำลังการผลิตยางแท่งจะเพิ่มเป็น 4.3 แสนตัน

สำหรับแนวโน้มผลงานไตรมาส 2 และช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการยางพาราที่สูงขึ้น และปัจจัยบวกจากการส่งออกยางพาราที่ผลิตตามกฎหมาย สินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 30 ธันวาคม 2567

"เราได้เริ่มส่งออกยางตามมาตรฐาน EUDR ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าภายในสิ้นปียอดส่งออกยางมาตรฐาน EUDR จะอยู่ที่ 1.0 แสนตัน ก่อนเพิ่มเป็น 2.0-2.5 แสนตันในปี 2568 ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้น เติบโตอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากยาง EUDR มาร์จิ้น สูงกว่าเกรดมาตรฐานราว 3-5% หรืออยู่ที่ 15-18%"

สำหรับแนวโน้มยอดขายยางแท่งปี 2567 คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มียอดขาย 197,000 ตัน โดยกลุ่มลูกค้าส่งออกหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ "ซื้อ"หุ้น TEGH ให้ราคาเป้าหมาย 4.10 บาท/หุ้น โดยมีมุมมองดีขึ้น หลังผู้ผลิตหลักอย่างจีนและยุโรปยังมีแนวโน้มนําเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นปรับลด ทำให้เริ่มมี Upside พร้อมปรับเพิ่มประมาณการกําไรปี 2567 ขึ้น 6% จากประมาณการก่อนหน้ามาอยู่ที่ 444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% เทียบปีก่อน นอกจากมองว่าประเด็นข่าวข้างต้นไม่กระทบต่อประมาณการยังมองว่าแนวโน้มการนําเข้าจากประเทศผู้ผลิตยางล้อหลัก เช่น จีนและยุโรป ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจดีต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลังราคาหุ้นอ่อนตัว ทำให้เริ่มมี Upside

ดังนั้น บล.ทรีนีตี้ ให้ราคาเป้าหมายปี 2567 ใหม่ที่ 4.10 บาท อิง PER 10 เท่า ภายใต้ประมาณการกําไรใหม่ ทั้งนี้ ราคาหุ้นอ่อนตัวลงมาจากประเด็นข่าวข้างต้น ทําให้เริ่มเห็น Upside จึงยังคงคําแนะนํา "ซื้อ"




กำลังโหลดความคิดเห็น