xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยปรับลดเป้าจีดีพี ส่งออกเสี่ยง-ท่องเที่ยวฟื้นต่อ ชี้ 7 เทรนด์มาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโต 2.3% จากเดิมที่ 2.7% จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในด้านของสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งตัวเลขการคาดการณ์การส่งออกเติบโตที่ 1% นั้น นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีดังกล่าวไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งมองว่าจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 0.2-0.3%

"การส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีปัจจัยความไม่แน่นอนหลายด้านที่จะเข้ามากระทบ ซึ่งตัวเลข 1% มีความท้าทายระดับหนึ่ง และจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกเดือน มิ.ย.ที่หดตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน โดยเครื่องชี้ด้านการผลิตของประเทศหลักมีสัญญาณลบ โดยเฉพาะตัวเลข Flash PMI Manufacturing ทั้ง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างหดตัวในเดือน ก.ค. ส่วนเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากดัชนียอดค้าปลีกที่ชะลอตัวลง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนที่ปรับลดลงต่อเนื่อง" นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) กล่าว

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อนๆ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวแตะระดับ 36.5 ล้านคน และเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ที่ 40 ล้านคนในปี 2568 ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 67-68 มีมูลค่าราว 2.65-3 ล้านล้านบาท แม้จะยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่การกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 มีสัดส่วนราว 13.4% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ที่มีสัดส่วนเพียง 9.2% โดยเมืองรองยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และอุดรธานี มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 130-343% สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติมีความสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น

ชี้ 7 เทรนด์ท่องเที่ยว

นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด ที่เน้นท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ไปสู่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผนวกรวมกับนโยบายด้าน Soft Power ที่ภาครัฐพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้กว่า 1.35 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1. การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

2. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 7.8 แสนคน สร้างรายได้มากถึง 2,880 ล้านบาท

3. การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอ (Film Tourism) ล่าสุดหลังจากที่มีการปล่อย MV เพลง “ROCKSTAR” ของ Lisa มีนักท่องเที่ยวตามไปถ่ายรูปเช็กอินที่ถนนเยาวราชจำนวนมาก

4. การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากกระแสรักษ์โลก รักษาสุขภาพ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งจากผลสำรวจโดย Booking.com พบว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบอย่างยั่งยืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า

5. กลุ่ม Digital Nomad Tourism เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามกระแส “Workcation” รูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเกือบเท่าตัว

6. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

แนะผู้ประกอบการคว้าโอกาสปรับตัวตาม

น ส.วีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า จากเทรนด์ดังกล่าวผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดังนี้

1.ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรมปรับปรุงที่พักให้สอดรับมาตรฐาน Green Hotel หรือเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายรักษ์ธรรมชาติ

2.นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ เสนอให้ภาครัฐพิจารณาแนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปที่ 1.เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยอาจเพิ่มทางเลือกในส่วนของประกันสุขภาพให้กลุ่ม Digital Nomad ที่มาขอ Destination Thailand Visa Revealed (DTV) 2.ผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเมืองรอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่ม Wellness Tourism ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สามารถท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้ 3.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างระบบด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น