xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะปรับเงื่อนไข ThaiESG ลดหย่อนภาษี 3 แสนบาท ถือลงทุน 5 ปี หวังกระตุ้นตลาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) จากนี้จะส่งให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างอีกครั้ง โดยปรับวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดจากเดิม 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 3 แสนบาท ลดระยะเวลาลงทุนเหลือ 5 ปี เพื่อเร่งเครื่องกระตุ้นตลาดทุน

สำหรับการปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย มีสาระสำคัญเป็นการปรับเงื่อนไขของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thai ESG (Thailand ESG Fund) ใหม่ มีรายละเอียด ดังนี้

1.ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมสูงสุด 100,000 บาท

2.ระยะเวลาถือครอง 5 ปี จากเดิม 8 ปี (นับจากวันที่ซื้อ)

3.ต้องลงทุนหุ้นใน SET/MAI ด้านสิ่งแวดล้อม (E) / ESG หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือระดับการประเมิน cg rating ของ IOD และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล (G) ตามที่ ก.ล.ต. กำหนด, ESG Bond และ Green Token
4.หุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี ESG ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากลมากกว่า 80% จากเดิมส่วนใหญ่เน้นที่ ESG Bond และ Green Token

"การปรับเกณฑ์กองทุน Thai ESG ครั้งนี้จะเป็นหนึ่งกลไกในการเร่งเครื่องตลาดทุน" นายจุลพันธ์ ระบุ

ต่อมา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG)

โดยให้ขยายวงเงินการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนจาก 100,000 บาทต่อปีภาษี เป็น 300,000 บาทต่อปีภาษี ทั้งนี้ ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และให้ลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือไม่น้อยกว่า 5 ปี (จากเดิมต้องถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี) สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

รวมทั้งกำหนดให้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดใดที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท

กรณีผู้มีเงินได้ซื้อกองทุน TESG ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ผู้มีเงินได้ดังกล่าวได้รับสิทธิ์หักค่ารดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และได้รับลดเวลาถือครองหน่วยลงทุนเหลือเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนด้วย

ส่วนกรณีที่ซื้อกองทุน TESG ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และกรณีซื้อกองทุน TESG ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป ผู้ซื้อกองทุนจะได้รับสิทธิ หักค่ารถหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีกปีละประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท (ตามมาตรการเดิม คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาทและในปีถัดถัดไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท)

ขณะที่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับดังนี้

1. เพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

2. ส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของตลาดทุนไทย และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน

3. ทำให้ผู้มีเงินได้เพิ่มจำนวนเงินในการออมและการลงทุนระยะยาว อันจะทำให้ผลตอบแทนโดยรวมจากการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติม อาทิ เห็นควรที่กระทรวงการคลังจะติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีในครั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้น กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางการเพิ่มรายได้ภาษีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายและเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคตต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น