นายก ส.ธุรกิจบ้านจัดสรรคนใหม่ "สุนทร สถาพร" เดินหน้ากับพันธกิจกอบกู้อสังหาฯ แก้ไขปัญหาลูกค้าซื้อบ้านแล้วไม่ได้รับสินเชื่อ ผ่อนคลาย LTV เข็นสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยถูก ผนึกภาครัฐยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัยในประเทศไทย หวังภาครัฐบริหารเรื่องพลังงาน ชะลอภาวะเงินเฟ้อ
นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรคนใหม่ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รับตำแหน่งนายกสมาคมคนที่ 12 แล้ว ตนและคณะกรรมการจะต้องรีบปฏิบัติภารกิจหลักของสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ได้รับความเชื่อถือจากภาครัฐ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ตนและคณะกรรมการจะต้องดำเนินการเร่งผลักดันในระยะ สั้นภายในปี 2567 นี้คือ
ประการแรก แก้ไขปัญหาลูกค้าซื้อบ้านแล้วไม่ได้รับสินเชื่อ ซึ่งจะต้องเข้าหารือกับกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ในปี 2567 โดยอยากให้สถาบันการเงินของรัฐมาช่วยสนับสนุนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้โดยเร็ว โดยอยากให้พิจารณาเครดิตผู้กู้ จากที่ต้องรอถึง 6 เดือน จึงจะผ่านการกู้สินเชื่อใหม่ เป็นให้ได้รับพิจารณาสินเชื่อใหม่ได้ทันที เพราะผู้ที่มีความจำเป็นด้านที่อยู่อาศัยแต่ไม่ผ่านการกู้สินเชื่อ โดยกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสุดคือ กลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อสูง 60-70% ส่วนกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท ถูกปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 40-50% และกลุ่มราคา 5-7 ล้านบาท ถูกปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 30% ซึ่งกลุ่มที่มีความต้องการบ้าน คือ กลุ่มที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ใกล้แหล่งงาน ใกล้สถานศึกษาของบุตรหลาน และกลุ่มที่ขยายครอบครัว ดังนั้นเมื่อกลุ่มดังกล่าวสามารถเคลียร์ปัญหาหนี้สินเดิมได้ จึงอยากให้สถาบันการเงินของรัฐพิจารณาสินเชื่อใหม่ได้
ประการที่สอง อยากเสนอให้ ผ่อนคลายมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) เป็นการชั่วคราว เนื่องจากผู้ที่มีความต้องการและมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยเป็นสัญญาที่ 2 มีความจำเป็นจะต้องมีที่อยู่อาศัย 2 แห่ง เช่น อาจจะมีพ่อแม่ที่สูงอายุอยู่บ้านชานเมือง แต่ผู้ผ่อนชำระอาจทำงานในเมือง จึงมีความจำเป็นในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยบ้านหลังที่ 2 และกลุ่มนี้มีศักยภาพ รายได้มากเพียงพอที่จะได้รับสินเชื่อ
ประการที่สาม อยากให้พิจารณาเรื่องวงเงิน Soft Loan และลูกค้าผู้กู้ซื้อบ้านได้อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงต้น แล้วค่อยปรับขึ้นตามลำดับตามการเติบโตของเศรษฐกิจ สำหรับขนาดวงเงินและอัตราดอกเบี้ย ถ้าเป็นไปได้อยากให้พิจารณาให้อยู่ในระดับที่ 3% ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอยากให้ภาครัฐเป็นฝ่ายพิจารณา เพราะถ้าลูกค้าสามารถกู้สินเชื่อซื้อบ้านได้ เศรษฐกิจจะเริ่มเกิดการหมุนเวียน เกิดวงจรการจ้างงานใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการระยะกลาง-ยาว ที่จะต้องร่วมกับภาครัฐและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่
1.คุณภาพ ปัจจุบันคุณภาพชีวิต นอกจากเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ยังมีประเด็นเรื่องของสุขภาพ และค่าใช้จ่ายระยะยาวของผู้อาศัย
2.ต้นทุน ต้องพัฒนาการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรและเทคโนโลยี
3.เวลา โดยช่วงเวลาผลิตและส่งมอบ ซึ่งในอดีตระยะเวลาในการส่งมอบที่อยู่อาศัยจะไม่เท่ากันและใช้เวลานาน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีทุนต่างชาติซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตที่มีความเร็ว จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาการแข่งขันด้านความเร็ว โดยคงทั้งด้านคุณภาพและต้นทุนได้ด้วย
อีกทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐและนักวิชาการ ทั้ง 3 ฝ่าย ต้องร่วมพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร โดยต้องพัฒนาขนาดที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เช่น พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เกี่ยวกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับแนวโน้มประชากรและไลฟ์สไตล์ พร้อมทั้งภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอยู่ผู้อยู่อาศัยสูงขึ้น จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนานวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ในอนาคต จะต้องมีกฎหมายและกฎระเบียบที่ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคตสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยทางสมาคมจะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เผยแพร่ความรู้ และร่วมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและทุกภูมิภาค เนื่องจากสมาคมเป็นตัวผู้ประกอบการทุกขนาด ทุกระดับราคา
ดังนั้น ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และกลาง สมาคมจะเน้นสนับสนุนความรู้ทางวิชาการและการมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อกฎหมายและข้อระบบต่างๆ ด้วย
นายสุนทร กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ครึ่งปีหลัง 2567 ว่ามีทิศทางดีขึ้น ด้วยเหตุผลจากการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนของภาครัฐประจำปี 2567 จะเริ่มเบิกจ่ายได้ในไตรมาส 3/2567 และการประเมินการเติบโตสภาวะเศรษฐกิจจากสถาบันหลักๆ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น ต่างมองทิศทางไตรมาส 3/2567 ว่า GDP มีโอกาสเติบโตได้ 2.5-2.7% ในขณะที่ไตรมาส 4/2567 มีโอกาสโตได้มากกว่า 3% จึงทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนและการซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับความท้าทายในครึ่งปีหลังนี้จะเป็นในเรื่องของต้นทุนด้านพลังงาน ที่รัฐบาลจะต้องควบคุมให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และเกิดการชะลอซื้อบ้านอีก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในครึ่งปีหลังนี้ และต้องสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น จึงจะสามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ