ยูโอบีเผยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าหากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความไม่แน่นอนทางนโยบายที่สูงขึ้น ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มชะลอลง แต่ยังคงทรงตัวในระดับสูงกว่าเป้าหมายของทางการ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงไม่สม่ำเสมอ
นาย Heng Koon How หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด เศรษฐศาสตร์โลกและการวิจัย กลุ่มธนาคารยูโอบี เปิดเผยว่า ประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ นับว่าได้รับความสนใจอย่างมาก โดยล่าสุด ผลการสำรวจความนิยมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้นเพิ่มขึ้นหลังจากการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ทรัมป์รอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหาร โดยหากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สมัยที่ 2 จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงนโยบายมากขึ้น ความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นตามมาถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 2568
นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สำคัญอีก 2 ประการ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับร้อยละ 2 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์และนโยบายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ความเสี่ยงอื่นๆ อาจจะปรับแย่ลงด้วย หากทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2
ทั้งนี้ ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี นโยบายการค้า และนโยบายตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มข้นขึ้นของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์นั้น จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อการกดดันเงินเฟ้อให้มีมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความวิตกกังวลเพิ่มเติมในภาวะที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงช้ากว่าในอดีต หรืออยู่เหนือระดับร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงการทำสงครามการค้ากับจีน ซึ่งทรัมป์ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า หากเขากลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งจะขึ้นภาษีการค้ากับจีนสูงถึงร้อยละ 60 นอกจากนี้ คู่ค้าของอเมริกาทุกประเทศก็ตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากทรัมป์ยังได้เสนอมาตรการที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าทุกชนิดจากต่างประเทศ
"ปัจจัยที่น่ากังวลคือ ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง หรือมีความหนืด อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย “ถูกตรึงไว้ในระดับสูงขึ้นนานกว่าที่เคยดาดไว้ต่อไป” และทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถูกเลื่อนให้ช้าออกไป ขณะที่เศรษฐกิจจีนแม้จะมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความหวัง เราประเมินว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในที่สุด และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของทางการที่ร้อยละ 5 ได้ในปีนี้"
นาย Heng Koon How กล่าวอีกว่า เรายังมองว่า การที่ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ อ่อนแอลงในระยะที่ผ่านมา และการที่อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีความมั่นใจเพียงพอที่จะเริ่มการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ในช่วงปลายปีนี้ และในปี 2568 ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยยังคงคาดการณ์การเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2567
"ห่วงโซ่อุปทานและการค้าทั่วโลกได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความยืดหยุ่นด้านภาษีตั้งแต่สมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวได้ดี ท่ามกลางภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีความเชื่อมั่นในการคาดการณ์การเติบโตที่ “ไม่เปลี่ยนแปลงในวงกว้าง” สำหรับเศรษฐกิจโลก และยังคงคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้ที่ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.3 ในปีหน้า"
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงทางนโยบายที่อาจเกิดขึ้นจากความเป็นไปได้ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของทรัมป์ อัตราเงินเฟ้อโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการฟื้นตัวอย่างไม่สม่ำเสมอของเศรษฐกิจจีน ในมุมมองของเรา ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ดีในช่วงเวลาที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนของนโยบายที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่เคยคือ การรักษาการบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง ความรอบคอบในการตัดสินใจลงทุน และการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม