สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies หรือ AIMC) เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ลงทุนสถาบันไทยต่อมุมมองภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการลงทุน และมุมมองการจัดน้ำหนักการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในภาพรวมมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเช่นเดียวกับการสำรวจเมื่อช่วงต้นปี แต่ยังคงมีความกังวลในเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะทรงตัว หรือถดถอยลงได้บ้าง
นางชวินดา หาญรัตนกูล ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกบริษัทจัดการลงทุนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาต่อมุมมองการลงทุนในช่วง 1 ปีข้างหน้า สรุปได้ว่า ทีมผู้จัดการกองทุนไทยเกือบทั้งหมดมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Growth) มูลค่าหลักทรัพย์โดยเปรียบเทียบผลการดำเนินงานและกำไรของบริษัทจดทะเบียนทิศทางของอัตราดอกเบี้ย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยบวกที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนในประเทศตามลำดับ
ขณะที่เสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจและลดทอนแรงจูงใจในการลงทุน นอกจากนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพของราคาทีมผู้จัดการกองทุนเกือบทั้งหมดจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2567 จะรักษาระดับอยู่อัตราเดิม (อัตราดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนแปลงล่าสุด ณ 12 มิ.ย.2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.5) โดยมีส่วนน้อยที่คาดว่า ธปท.อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นไปเพื่อดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ
ส่วนของการจัดน้ำหนักการลงทุนในประเทศนั้นถึงแม้ตลาดทุนไทยจะมีความผันผวนอยู่บ้างในระยะสั้น แต่ในภาพรวมทีมผู้จัดการกองทุนมีมุมมองการลงทุนเป็นกลางค่อนไปในทางบวก (Neutral to Overweight) เน้นหลักการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งประเภทตราสารหนี้ ตราสารทุน อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานและทองคำ
โดยสำหรับการลงทุนในตราสารทุนเน้นลงทุนในหุ้นขนาดปานกลางถึงใหญ่ (Medium to Large Cap) เป็นหลัก กลุ่มอุตสาหกรรมในดวงใจคือกลุ่มการค้าพาณิชย์ กลุ่มบริการทางการแพทย์ กลุ่มท่องเที่ยวสันทนาการ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร และกลุ่มอิเลคทรอนิกส์ตามลำดับ
นอกจากนั้น ทีมผู้จัดการกองทุนยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในรูปแบบความยั่งยืน (ESG Investing) โดยสำหรับการลงทุนในประเทศจะเน้นลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในหุ้นรูปแบบผสมผสาน (ESG Equity Blending) รวมทั้งคาดหวังที่จะออกกองทุนที่เน้นลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งในประเทศโดยเฉพาะกองทุนรูปแบบกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) และในต่างประเทศรูปแบบ FIF-ESG เพื่อนำเสนอให้แก่ผู้ลงทุนไทยให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในระยะ 1 ปีข้างหน้านั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวและอาจชะลอตัวลงได้บ้างเช่นเดียวกับการสำรวจมุมมองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระดับประเทศ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตของ GDP ที่ชะลอลงในบางประเทศเศรษฐกิจหลัก
อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดการกองทุนยังเชื่อว่าทิศทางโดยรวมของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกาจะค่อยๆ ทยอยลดระดับลงได้ในระยะถัดไปโดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.0-5.25% ณ สิ้นปี 2567 และ 4.0-4.25% ณ สิ้นปี 2568 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะปานกลาง สำหรับการจัดน้ำหนักการลงทุนทั่วโลกยังคงเชื่อว่าผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค
ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวก มีส่วนน้อยที่มีมุมมองเป็นกลางต่อการลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ในขณะที่มีมุมมองเป็นกลางค่อนไปในทางลบต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) สำหรับประเภทสินทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้น ในภาพรวมตราสารหนี้มีความน่าสนใจกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่น โดยให้น้ำหนักไปที่ตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน
ส่วนการลงทุนในหุ้นทั่วโลกยังคงมีมุมมองเป็นกลางค่อนไปในทางบวก เน้นลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ สำหรับประเทศที่น่าสนใจลงทุนในหุ้น ได้แก่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอินเดีย โดยกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มบริการสื่อสาร กลุ่มอุปโภคบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มบริการทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น ในส่วนของสินทรัพย์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกยังคงให้น้ำหนักปานกลางโดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน และทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจ
อนึ่ง การสำรวจมุมมองผู้ลงทุนสถาบันไทยโดย AIMC นั้น มุ่งหวังให้ผลสำรวจนี้เป็นแนวทาง หลักคิดด้านการออมและลงทุน และช่วยให้ภาพรวมในการจัดแบ่งเงินลงทุน เพื่อที่ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน และประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ และสามารถสร้างความยั่งยืนผ่านเงินลงทุนของกิจการหรือของตนเองได้ต่อไป