ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังมีแรงส่งหลักจากภาคบริการตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรก ด้วยปัจจัยสนับสนุนทั้งมาตรการวีซ่าใหม่ การขยายเที่ยวบิน และการจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ รวมถึงภาคส่งออกที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี โดยยังคงมุมมองการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.5% ด้านเงินเฟ้อ คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยเร่งตัวกลับสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ได้ในช่วงสิ้นปี ตามการเร่งตัวของราคาพลังงานจาก (1) ค่าไฟฟ้าในช่วง ก.ย.-ธ.ค.2567 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลจากราคาก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มสูงขึ้นช่วงปลายปี รวมถึง (2) ราคาน้ำมันในประเทศที่มีแนวโน้มเร่งตัวตามนโยบายช่วยเหลือที่จะทยอยหมดไป
อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้าปัจจัยกดดันเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมาจากภาคการผลิตที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนนัก สะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้ประกอบการตลาดในประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูงและมีแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบชัดเจนและมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้แบบ Broad-based โดยยอดการผลิตถูกฉุดรั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซาและคาดว่าในปี 2567 จะหดตัวต่ำสุดในรอบ 14 ปี ประกอบกับแนวโน้มการบริโภคสินค้าคงทนแผ่วลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นช้าและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนั้น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่ง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้าได้
ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่ากนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า ตามความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แรงส่งอุปสงค์ในประเทศแผ่วลง ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่จะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า นอกจากนี้ ต้นทุนการปรับลดดอกเบี้ยจะปรับลดลงจากภาคการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้การลดดอกเบี้ยจะไม่กระตุ้นการก่อหนี้ใหม่ สำหรับเงินบาทในระยะต่อไปเงินบาทจะแข็งค่าต่อได้ไม่มาก แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากปัจจัยทางการเมือง ทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และการเมืองไทย ณ สิ้นปีนี้จึงมองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นที่ราว 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงตามคาด ภาพรวมกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัวจากภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย ในปีนี้การเลือกตั้งทั่วโลกยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา ผลการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยนจากเดิม โดยพรรคแรงงานที่ชนะการเลือกตั้งอาจเน้นการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เก็บภาษีผู้มีรายได้สูงเพิ่ม และหันมาฟื้นฟูการค้ากับสหภาพยุโรปมากขึ้น ขณะที่ผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสจะทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงขึ้นและความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจที่ดำเนินมาอาจทำได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะไม่มีกลุ่มการเมืองใดได้ที่นั่งเบ็ดเสร็จ และแต่ละกลุ่มมีทิศทางนโยบายต่างกันมาก ในระยะข้างหน้าการเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะเป็นประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก
และนโยบายการเงินโลกจะลดความตึงตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง SCB EIC ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. รวม 50 BPS จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลงและการสื่อสาร Dovish มากขึ้นของ FOMC ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง รวม 50 BPS ในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. หลังจากปรับลดครั้งแรกในไตรมาส 2 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากปรับขึ้นครั้งแรกในไตรมาส 1 สำหรับในระยะข้างหน้าการทยอยลดความผ่อนคลายของนโยบายการเงินญี่ปุ่นจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับแย่ลงและเงินเฟ้อจะชะลอลงตามราคาสินค้านำเข้าและค่าจ้าง