xs
xsm
sm
md
lg

KKP Research เศรษฐกิจไทยสู่ยุคโตต่ำ 2% 3 ปัจจัยหลักฉุด จี้เร่งปรับโครงสร้างจริงจัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินภัทรเกียรตินาคิน ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าลงหลังโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงการโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่อาจเป็นเพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอยลง โดยในระยะข้างหน้า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ด้วย 3 เหตุผลหลัก ได้แก่ 1) ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ภายใต้ภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น 2) กำลังแรงงานที่ทั้งลดลงและแก่ตัวลง และ 3) ขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

ดังนั้น นโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี จึงเป็นทางออกสำคัญที่จะยกศักยภาพเศรษฐกิจไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก นอกจากนี้ การปฏิรูปภาคการคลังและระบบภาษีก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในวันที่คนไทยกำลังแก่ตัวขึ้น

**ศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงทุกวิกฤต**
ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเริ่มถูกพูดถึงอีกครั้งในวงกว้าง หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ จนเริ่มมีคำถามว่า ‘หรือเศรษฐกิจไทยไม่ใช่กำลังโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้ลดต่ำลงไปแล้ว?’

โดยหากย้อนกลับไปดูเศรษฐกิจไทยในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายจะมีข้อสังเกตแบบนี้ เพราะทุกครั้งที่ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหดตัวรุนแรง แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะลดต่ำลงทุกครั้ง นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงจากมากกว่า 7% ในช่วงก่อนหน้ามาเหลือเพียง 5% หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 3% และหลังวิกฤตโควิดในปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 2%

**แรงงาน-ทุน-เทคโนโลยี**
จากปัจจัยที่กำหนดการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามปัจจัยการผลิต ได้แก่ 1) จำนวนแรงงาน 2) การสะสมทุน และ 3) เทคโนโลยีที่จะช่วยให้แรงงานและทุนสามารถผลิตได้มากขึ้น หรือเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตนั้นเอง

KKP Research ประเมินว่า ‘ศักยภาพ’ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจจะลดลงมาอยู่ที่เพียงต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงฉุดสำคัญ คือ ‘แรงงาน’ ที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุดต่อปีจนถึงปี 2030 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในทศวรรษที่ 2040 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี โดยที่คงสมมติฐานให้การสะสมทุนและผลิตภาพเท่าเดิม ซ้ำร้ายกว่านั้น หากการสะสมทุนหรือผลิตภาพหดตัวลงด้วย (ซึ่ง KKP Research มองว่าจะทยอยลดลงเช่นกัน) จะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยจะต่ำลงไปได้ถึง 1.3% ต่อปีในปลายทศวรรษหน้า

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคเอกชนโดยรวมที่สูงขึ้น คุณภาพของหนี้ที่ลดลง นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลัง ทำให้โอกาสที่จะขยายการลงทุนในเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไปด้วย

KKP Research มองว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพของไทยลดลง 1) การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือผลิตภาพต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม 2) คุณภาพของการศึกษาที่นำไปสู่ปัญหาคุณภาพแรงงาน และ 3) การขาดการลงทุน ทั้งจากธุรกิจภายในประเทศและจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และขาดนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคตและทุนมนุษย์ คงเป็นไปได้ยากที่ผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นจนสามารถชดเชยจำนวนแรงงานหรือทุนที่ลดลงไป

ปฏิรูป 4 ด้านยกระดับ GDP
KKP Research เสนอแนะว่ารัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ได้แก่

1.เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง โดยหากไทยจะสามารถกลับมาเนื้อหอมและดึงดูดการลงทุนได้อีกครั้ง การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ๆ นอกจากนี้ การทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานทักษะสูงจะต้องคิดใหม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานที่ประเทศไทยยังขาด และที่สำคัญคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและต่อด้านการผูกขาด

2.การเปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สุด โดยเฉพาะการส่งเสริมและเพิ่มการแข่งขันในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่นๆ ในการทำธุรกิจ

3.เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ภาคการเกษตรนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำสุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก

4.ปฏิรูปภาคการคลัง ประเด็นนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับการยกระดับศักยภาพโดยตรง แต่ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ (สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ) และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น