xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.แจงปมสงสัยปมฟัน 3 กรรมการและผู้บริหาร EA ทุจริต ชี้อายุความยังไม่หมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงเพิ่มเติม กรณีกล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท

ก.ล.ต. เผยว่า เหตุที่ใช้เวลาในการดำเนินการ เนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2559 และได้ตั้งประเด็นตรวจสอบหลายประเด็น เกี่ยวพันกันหลายมาตรา มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ และมีข้อมูลที่ต้องพิจารณาจำนวนมากในแต่ละประเด็น นอกจากนี้ ตามกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ให้เวลาและโอกาสผู้ต้องสงสัยชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นธรรม ทั้งกรณีการเรียกมาสอบถ้อยคำและการให้ชี้แจงเป็นหนังสือ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ได้ประสานหน่วยงานกำกับในต่างประเทศหลายแห่งและได้ความร่วมมือรวมเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ คดีนี้มีอายุความ คือ การกระทำความผิดเกิดในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ต่อเนื่องกัน โดยกรณีนี้เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 311 ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2573 (นับแต่ปี 2558)

ส่วนกรณีความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 มีอายุความ 10 ปี จึงจะหมดอายุความในปี 2568 (นับแต่ปี 2558) สาเหตุกรณีนี้ดำเนินคดีทางอาญา เพราะเป็นความผิดทุจริตมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ (มาตรา 311 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ไม่ได้รวมอยู่ในมาตรา 317/1)

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ.3/2560 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท https://publish.sec.or.th/nrs/7200s.pdf

ส่วนโทษสูงสุดตามกฎหมายในกรณีนี้ ในความผิดแต่ละมาตรา กรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโทษตามมาตรา 313 คือ ระวางโทษจำคุก 5-10 ปี และปรับเงิน 2 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืน

กรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้สนับสนุนมีโทษตามมาตรา 311 ตามความในมาตรา 315 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 313 เนื่องจากไม่ได้เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

สำหรับเบาะแสการกระทำผิด หรือมีจุดเริ่มต้นของการดำเนินการ ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า EA อาจมีการทุจริตผ่านบริษัทย่อยในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง พร้อมส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องบางส่วน จึงได้ตรวจสอบหาความจริงและความถูกต้องเป็นไปตามข้อร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผ่านหน่วยงาน ก.ล.ต. หลายประเทศ พบว่า บุคคลทั้งสามกระทำผิดจริง จึงได้กล่าวโทษ

หลังจาก ก.ล.ต. กล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว และในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาและพิพากษาต่อไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น