xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.09 ดอลลาร์อ่อน-จับตาฟันด์โฟลว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12ก.ค.) ที่ระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.25 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.05-36.32 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงราว -10bps ของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ออกมา +3.0%y/y (-0.1%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.3% (+0.1%m/m) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่าเฟดมีโอกาสราว 44% ที่จะลดดอกเบี้ย “3” ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ตลาดเคยมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI

นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ทะลุระดับ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ เช่น ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตามองได้ดี รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Expectations) ระยะสั้นและระยะกลางจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วยเช่นกัน และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด อาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน แถว 36.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทยังไม่สามารถหลุดจากโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวแถวเส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมที่ทำให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ (อาจต้องรอช่วงปลายเดือน) นอกจากนี้ เรามองว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันบ้างตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า และโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนเริ่มมีทิศทางแข็งค่าขึ้น อีกทั้งควรระวังแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หากตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง ส่วนบอนด์ยิลด์อาจปรับตัวลดลง ตามบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนในสินทรัพย์ไทยได้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย จนถึงช่วง 21.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น