"กระทรวงคลัง" แจงปรับลดวงเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” เหลือ 4.5 แสนล้านบาท เพราะประเมินจากการใช้เงินของโครงการรัฐใช้จริงไม่เกิน 80% พร้อมยันลดวงเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" แต่ยังช่วยกระตุ้น GDP 1.3-1.8% ตามที่ประเมินไว้ตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ
วันนี้ (11 ก.ค.) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลดวงเงินโครงการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ตไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งวงเงิน 5 แสนล้านบาท สืบเนื่องมาจากในการประเมินโครงการเก่าๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการ เช่น ไทยเที่ยวไทยเราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ พบว่า ประชาชนไม่ได้มาลงทะเบียนใช้สิทธิเต็ม 100% โดยจะอยู่ที่ราว 80% เท่านั้น ดังนั้น คณะกรรมการจึงประเมินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต การเข้ามาใช้ของประชาชนน่าจะใกล้เคียงกัน จึงตั้งงบประมาณให้เพียงพอและสอดคล้องข้อเท็จจริง เป็นที่มาของการลดงบประมาณเหลือ 4.5 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีข้อกังวลจากหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐ รัฐบาลไม่ควรจะตั้งงบประมาณสูงเกินไป เพราะจะทำให้เป็นการเสียโอกาสของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับลดวงเงินงบประมาณลง ผลผลต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นของการคิดโครงการคือทำให้จีดีพีโต 1.3-1.8% โดยรัฐบาลได้ใช้ตัวเลขคาดการณ์ผู้มาใช้สิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ 40 กว่าล้านคน เป็นตัวเลขเพื่อประเมินผลต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว และมีประชาชนมาใช้สิทธิมากกว่าที่ประเมินไว้ เชื่อว่าจะมีผลดีกับเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน
"ตัวเลขกรอบคนที่จะเข้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ตที่ 80-90% เป็นตัวเลขที่อยู่ในฐานการประมาณการ โดยประเมินว่าจะไม่ใช้สิทธิทั้งหมด 50.7 ล้านคน เป็นกรอบการศึกษามาอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนการตั้งงบประมาณพอดีกับการใช้จริง ไม่ตั้งเกิน เพื่อไม่เป็นการเสียประโยชน์ของประเทศ แต่ถ้ามีคนมาลงทะเบียนเกิน กลไกงบประมาณก็สามารถรองรับได้" นายเผ่าภูมิ กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องผลกับเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า อยู่ที่เงื่อนไขว่าจะต้องทำให้เงื่อนไขมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจมากที่สุด อย่างที่เห็นได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งต้องยอมรับว่าทำให้ประชาชนใช้ยากขึ้น จุดนี้เป็นข้อเสีย แต่ข้อดี คือ เงินจะถูกหมุนในประเทศมากขึ้น เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้านำเข้าสูง เงินไหลสู่นอกประเทศทันที ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตในประเทศ
ดังนั้น คณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีการเปลี่ยนเงื่อนไข เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ พิจารณาตัดกลุ่มสินค้าเหล่านี้ออก เพื่อให้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสูงสุด