นาฝ.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน)(BAY) กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ รับมือกับภาวะดอกเบี้ยสูงได้ดีเกินคาด เมื่อมองไปข้างหน้า คาดว่าสัญญาณชะลอตัวของเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้น เอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป มุมมองอัตราแลกเปลี่ยนของเราอยู่บนสมมติฐานหลักที่ว่าเฟดจะหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวดน้อยลงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงตามวัฏจักร (Soft Landing) โดยเราประมาณการค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีผันผวนในกรอบ 34.50-36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดท่ามกลางศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่น กระแสเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นความท้าทายจากทิศทางการค้าโลกในระยะถัดไป
**ห่วงปัญหาเชิงโครงสร้างบั่นทอนภูมิคุ้มกันเงินบาท**
"ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าไป 5.9% ซึ่งก็คู่คี่มากับเงินวอนเกาหลี แต่มองว่าในระยะต่อไปเงินบาทจะเริ่มนิ่งและแข็งค่าขึ้นแต่อยู่ในกรอบจำกัด หลังจากดอลลาร์สหรัฐที่ชะลอการแข็งค่าลง เมื่อเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดในเดือนกันยายนและธันวาคม แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทเกิดขึ้นเพราะเฟดลดดอกเบี้ย ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทเอง ซึ่งสิ่งที่ต้องเป็นห่วงคือภูมิคุ้มกันของเงินบาทในระยะยาวที่จะลดลงเรื่อยๆ ในระยะยาวจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ผ่านการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงเรื่อยๆ หลังศักยภาพด้านการส่งออกของไทยที่เติบโตได้น้อยลงเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ส่งออกขยายตัวเพียง 1.8% สะท้อนให้เห็นว่าคู่ค้าของไทยอาจจะซื้อสินค้าน้อยลง หรือสินค้าของไทยเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ดังนั้น หากไม่มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง คงยากที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นปีละ 10% เหมือนที่เคยเป็น ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลงนับจากต้นปี 13% โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยและการเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่น่าจะพอที่จะพยุงค่าเงินเยน แต่จะต้องรอสัญญาณที่ชัดเจนของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของทั้ง 2 ประเทศลดลง"
สำหรับประเด็นของฟันด์โฟลว์นั้น ในครึ่งปีแรกนักลงทุนต่างชาติขายทั้งหุ้นไทยและพันธบัตรไทย แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังคงจะไม่มากเท่า เพราะเฟดใกล้ลดดอกเบี้ยแล้ว โดยนับจากต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีเงินไหลออกรวมประมาณ 117,493 ล้านบาท ขณะที่ช่วงปี 2566 มีเงินลงทุนไหลออกรวม 192,490 ล้านบาท ในฝั่งของตลาดตราสารหนี้ไทย มีเงินลงทุนไหลออก YTD ประมาณ 76,838 ล้านบาท ขณะที่สิ้นปี 2566 มีเงินลงทุนไหลออกรวมทั้งสิ้น 146,148 ล้านบาท
ด้านนโยบายการเงินของไทย เราประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ตลอดปีนี้ โดยการสื่อสารของผู้ดำเนินนโยบายต่อผู้ร่วมตลาดสะท้อนความสำคัญของการดูแลเสถียรภาพ ลดการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะกลางถึงยาว
ส่วนผลประกอบการของกลุ่มโกลบอลมาร์เก็ตส์ ของธนาคารนั้น นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปี 2566 กรุงศรีมีกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศสูงถึง 5,732 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% จากปี 2565 พร้อมทั้งได้มีส่วนในการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Green & Blue Bond) จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในภาพรวมปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.4% โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกของปีโตขึ้นเพียง 1% อย่างไรก็ตาม ปริมาณธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในช่วงเดียวกันในปีนี้ของกรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ได้เพิ่มขึ้นถึง 13%