xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.40 แกว่งตัว sideways รอปัจจัยใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 ก.ค.) ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.37-36.46 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะ 1 ปี และ ระยะ 5 ปี ของผู้บริโภคที่รวบรวมโดยเฟดนิวยอร์ก ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.0% และ 2.8% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง หลังความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสยังคงมีอยู่ จากผลการเลือกตั้งสภาที่สะท้อนว่าไม่มีพรรคใดจะสามารถคว้าที่นั่งในสภาได้เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองฝรั่งเศสได้ โดยความกังวลดังกล่าวได้กดดันตลาดหุ้นฝรั่งเศส อีกทั้งยังกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน การย่อตัวลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมามีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังคงรอจังหวะ Buy on Dip ทองคำอยู่

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะการแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ในประเด็นภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟดว่าจะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ตามที่ตลาดคาดหวังได้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวโซน 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันเช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะ ถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนนี้ (ทยอยรับรู้ในช่วงราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ (รับรู้ในช่วงคืนวันพฤหัสฯ) โดยเงินบาทอาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก หากบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ กับบอนด์ยิลด์ญี่ปุ่นกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก โดยยังมีโซนแนวต้านแถว 36.50-36.65 บาทต่อดอลลาร์ และเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดทอนแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาความผันผวนของราคาทองคำที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอยู่ และแม้ว่าเงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง เราประเมินว่าเงินบาทอาจติดอยู่แถวแนวรับ 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการแข็งค่าเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น