xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยเบฟฯ” ปรับโครงสร้างอีกรอบ ถอน SSC ออก ตลท.- เพิ่มความคล่องตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ “ไทยเบฟฯ” เตรียมถอน “เสริมสุข”ออกจากตลาดหุ้น หลังตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นด้วยราคาสูงถึง 63.00 บาท ดันราคาหุ้นพุ่งมาอยู่ที่ 62.00 บาท ด้วยเหตุผลปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดความซับซ้อนจากเงื่อนไขตลาดหลักทรัพย์ หวังช่วยการดำเนินงานรวดเร็วคล่องตัว คาดที่ประชุมผู้ถือหุ้นไฟเขียวคตาดเป็นงานท้าทาย เมื่ออัตรากำไรเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยังไม่โดดเด่นเทียบเท่าเหล้า-เบียร์

เมื่อเร็วๆนี้ กฤษณ์ จุลพาณิชยกรรม เลขานุการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท รับทราบหนังสือแจ้งความประสงค์ของบริษัท โซ วอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ SSC จำนวน 171.95 ล้านหุ้น หรือ 64.67% และเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์) ทั้งหมดของ SSC ที่เหลือ อีก 93.94 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 35.33% ที่ราคาหุ้นละ 63 บาท เพื่อการเพิกถอนหลักหลักทรัพย์ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

โดยเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการเพิกถอนหุ้น SSC เนื่องจาก “โซ วอเตอร์” เชื่อว่าจะช่วยให้การบริหารจัดการ และการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการลดขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนซึ่งจะส่งผลให้การบริหารกิจการและการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น

ไทยเบฟ ฯ ปรับโครงสร้าง

มีรายงานว่า ปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจมีการดำเนินการปรับโครงสร้างภายใน และการปรับโครงสร้างธุรกิจในด้านต่างๆ ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของการซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ การควบรวมกิจการ การโอนสิทธิตามสัญญาทางการเงิน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงานการกู้ยืม-ให้กู้ยืมเงิน ตลอดจนการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวอาจประกอบด้วยการทำรายการหรือธุรกรรมระหว่างบริษัทในกลุ่มไทยเบฟฯ ดังนั้นการเพิกถอนหลักทรัพย์ของSSC จะช่วยเพิ่ม ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และเป็นการรองรับแผนการปรับโครงสร้างข้างต้นด้วย

นอกจากนี้ปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้นของ SSC ในตลาดหลักทรัพย์ มีจำนวนไม่มากนัก การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะเป็นประโยชน์ต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัท โดยเป็นการช่วยเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย และการที่บริษัทไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนนั้นก็จะช่วยลดภาระค่า ใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นบริษัทจดทะเบียน

ทั้งนี้ การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเพื่อการเพิกถอน หลักทรัพย์ของบริษัทในครั้งนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่ออก และจำหน่ายแล้วทั้งหมด และต้องไม่มีผู้ถือหุ้นคัดค้านการเพิกถอนหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยบริษัทจะมีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2567

ส่วนความเคลื่อนไหวราคาหุ้น SSC เมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทันทีที่เปิดตลาดอยู่ที่ 62 บาทต่อหุ้น จากราคาปิดวันก่อนหน้า (3 ก.ค.) อยู่ที่ 49.25 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 25.88% ขณะที่วันที่ 5 ก.ค.67 ราคาหุ้นปิดทื่ 62.00 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.40%

ส่องศักยภาพ SSC

ปัจจุบัน บมจ.เสริมสุข (SSC) ดำเนินธุรกิจผุ้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม เครื่องดื่มน้ำอัดลม "เอส" และ "ซาสี่" น้ำดื่ม "คริสตัล" ชาเขียว "โออิชิ" เครื่องดื่มอัดลมเพื่อสุขภาพ "100พลัส" เครื่องดื่มสมุนไพร "จับใจ" น้ำโซดา "ร็อค เมาเท่น" เครื่องดื่มบำรุงกำลัง "แรงเจอร์" เครื่องดื่มเกลือแร่ "พาวเวอร์พลัส" และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ "วีบูสท์"

ข้อมูลจากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 รายแรกของ SSC ประกอบด้วย

1. บริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด (สัญชาติไทย) สัดส่วน 64.67%
2. บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (นิติบุคคลต่างด้าวซึ่งจดทะเบียนที่ประเทศไทย (หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน)) สัดส่วน 20.12%
3. DBS Bank Ltd. AC DBS Nominees-PB Client สัดส่วน (สัญชาติสิงคโปร์) สัดส่วน 4.70%
4. Bank Singapore Limited-THB SEG AC (สัญชาติสิงคโปร์) สัดส่วน 4.06%
5. UOB Kay Hian (Hong Kong) Limited-Client Account (สัญชาติฮ่องกง) สัดส่วน 2.71%
6. บริษัท เพรสทีจ 2015 จำกัด (สัญชาติไทย) สัดส่วน 1.10%
7. นางดวงแก้ว ตระกูลพิพัฒน์ สัดส่วน 0.22%
8. ร.อ.ณรงค์ ภัทรเลาหะ สัดส่วน 0.19%
9. นางสาวนันทนา แย้มมนัส สัดส่วน 0.10%
10. นายเทวัญ ตันติจัตตานนท์ สัดส่วน 0.08%

ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้น SSC มีจำนวนทั้งหมด 1,091 ราย รวมจำนวน 265,900,484 หุ้น จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถือหุ้นไม่เกินกว่า 5 ใน 1,000 ของทุนเรียกชำระแล้ว แต่ไม่ต่ำกว่ำ 1 หน่วยการซื้อขาย 781 ราย 7,018,721 หุ้น คิดเป็น 2.64% ของทุนเรียกชำระแล้ว โดยมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) 790 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.21%

โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 2,239.47 ล้านบาท และมีกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรร 1,593.06 ล้านบาท

ภาพรวมรายได้ตั้งแต่ปี 2564 พบว่า SSC มีรายได้เติบโตต่อเนื่องจาก 9,760 ล้านบาทในปี 2564 มาอยู่ที่ 11,058 ล้านบาทในปี 2565 และ 12,592 ล้านบาทในปี 2566 ส่วนครึ่งปีแรก 2567 บริษัทมีรายได้แล้ว 6,374 ล้านบาท

ส่วนกำไรสุทธิเติบขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 83.24 ล้านบาท ปี2565 มีกำไรสุทธิ 12.66 ล้านบาท และปี2566 มีกำไรสุทธิ 248 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรก 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 178 ล้านบาท

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอล ฯ ยังมีอุปสรรค

ต้องยอมรับว่าธุรกิจแอลกอฮอลล์, ธุรกิจเครื่องดื่ม และธุรกิจอาหาร ถือเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญของกลุ่มไทยเบฟฯ โดยมีทั้งการเข้าซื้อกิจการธุรกิจเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในเครือ รวมถึงสร้างแบรนด์ใหม่ของตัวเองเข้ามาแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิม โดยไทยเบฟฯ มีการปรับโครงสร้างในธุรกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะก่อนหน้านี้หลายธุรกิจมีความทับซ้อนกันจากบริษัทในเครือที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อการเติบโตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาจึงเห็นการปรับโครงสร้างธุรกิจบ่อยครั้ง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มไทยเบฟฯนำบริษัทออกจากกระดานซื้อขาย โดยก่อนหน้านี้คือ การเพิกถอนหุ้น “โออิชิ” (OISHI) ออกจากตลาดหลักทรัพย์ในช่วงมีนาคม 2566 ด้วยการทำคำเสนอซื้อหุ้นในราคา 59 บาทต่อหุ้น

ขณะที่การทำคำเสนอซื้อหุ้น SSC รอบนี้มีหุ้นสามัญทั้งสิ้น 93,945,680 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 35.33% ในราคาเสนอซื้อ 63.00 บาทต่อหุ้น หรือคำนวณมีมูลค่า 5,918 ล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจ สำหรับไทยเบฟฯคือ 4 กลุ่มธุรกิจของกลุ่มม ได้แก่ เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร พบว่ามีเพียงธุรกิจเหล้า และเบียร์ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากผลประกอบการครึ่งปี 2567 (ปีงบประมาณ ต.ค.66-ก.ย.67) บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 147,742 ล้านบาท ลดลง 0.4% โดยธุรกิจสุราทำรายได้ถึง 65,497 ล้านบาท หรือ 44.3% จากรายได้ทั้งหมด ตามมาด้วยธุรกิจเบียร์ทำรายได้ 62,523 ล้านบาท หรือ 42.3%

ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีรายงานว่าครึ่งปีแรกสามารถทำรายได้เพียง 9,929 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.7% ใกล้เคียงกับธุรกิจอาหารที่ทำรายได้คครึ่งปีแรก 9,856 ล้านบาท หรือ 6.7%

ส่วนธุรกิจที่สร้างกำไรให้แก่กลุ่ม“ไทยเบฟฯ”มากที่สุดหนีไม่พ้นธุรกิจเหล้า 80.7% ตามมาด้วยธุรกิจเบียร์ 16.9% ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สร้างกำไรให้กับกลุ่มเพียง 2.2% และธุรกิจอาหารสร้างกำไรเพียง 0.2%

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของ SSC ที่ทำให้กลุ่มไทยเบฟฯให้ความสนใจ จนนำมาสู่การเข้าถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั่นคือการเป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพมายาวนาน ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแพร่หลาย แต่ปัญหาสำคัญของ “ไทยเบฟฯ”คือการมีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ทำให้บริษัทต้องมีการแขงขันกับผลิตภัณฑ์เจ้าอื่นๆ รวมทั้งของตนเองในทุกเซกเมนต์

แต่ถ้ามองในแง่ดี ถือว่า “ไทยเบฟฯ” สามาราถนำผลิตภัณฑ์อื่นๆท่ายในต่างประเทศเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยได้ง่ายกว่าคู่แข่งขัน โดยเฉพาะแบรนด์ F&N ที่หลายผลิตภัณฑ์เป็นผู้นำตลาดในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ย้อนประวัติ SSC

ทั้งนี้ SSC ถือเป็นหุ้นยุคแรก ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเป็นพันธมิตรกับ “เป๊ปซี่” โดยได้รับสิทธิในการผลิตและจำหน่ายเป๊ปซี่ในประเทศไทยเพียงผู้เดียว แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งทางธุรกิจ เมื่อราคาซื้อหัวเชื้อเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ SSC ไม่สามารถปรับราคาขายได้ จนนำไปสู่การแย่งชิงหุ้น SSC ในตลาดหลักทรัพย์ แต่จนแล้วจนรอด “แป๊ปซี่”ได้เสนอตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ หุ้น SSC กลับไม่สามารถปิดดีลได้สำเร็จ

ขณะที่กลุ่ม “บุลสุข” ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ชักชวนให้บริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด เข้ามามาร่วมลงซื้อหุ้น ซึ่งต่อมาจิ๊กซอว์สำคัญคือกลุ่มไทยเบฟฯของเสี่ยเจริญก็เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทปิดดีลครอบครอง SSC โดยหันมาผลิตน้ำอัดลมแบรนด์ “เอส โคล่า”เข้ามาเจาะตลาดแทน “เป๊ปซี่” นั่นเพราะอยากได้คลังสินค้า และเครือข่ายร้านค้าโชว์ห่วยที่มีตามตรอกซอกซอยทั่วประเทศไทยของเสริมสุข เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจในกลุ่ม

โดยข้อมูลล่าสุดส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มน้ำดำในประเทศไทยปี 2566 พบว่า “โค๊ก” ครองส่วนแบ่งสูงสุดอยู่ที่ 54% ส่วนอันดับ 2 คือ “เป๊ปซี่” โดยมีสัดส่วนทางการตลาด 30% และเอส โคล่า เป็นอันดับ 3 สัดส่วน 9.1%


กำลังโหลดความคิดเห็น