หากถามว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน กลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทใดที่น่ากังวลมากกว่าเพื่อน “คอนโดมิเนียม” น่าจะเป็นคำตอบที่หลายๆ คนคิดตรงกัน เพราะแม้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจะกระเตื้องมากที่สุด โดยเฉพาะคอนโดฯ ที่จับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ซึ่งไตรมาส 1/67 นี้ หน่วยการโอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.7% จากปีก่อนที่มียอดโอน 15.9% และมีมูลค่าการโอนห้องชุดชาวต่างชาติขยายตัวถึง 28.6% จากปีก่อนที่มียอดโอน 24.3%
แม้ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวดีกว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ แต่หากย้อนกับไปถึงจำนวนสต๊อกห้องชุดที่สะสมอยู่ในตลาดรวมแล้ว บอกเลยว่าปริมาณห้องชุดที่ระบายออกไปนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะห้องชุดส่วนใหญ่ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นห้องชุดใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทอสังหาฯ เบอร์ต้นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเปิดขายไปในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า แต่ห้องชุดสะสมในตลาดที่ค้างสต๊อกอยู่ก่อนหน้ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกระบายออกไป
ขณะที่กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบนั้น ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปรับตัวลดลงจากปีก่อน หลังจากที่ต้นทุนก่อสร้างดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบหนี้ครัวเรือนสูง และการถีบตัวของอัตราเงินเฟ้อที่มีผลให้ค่าครองชีพขยับสูงขึ้น ทำให้แบงก์พาณิชย์เข้มงวดการอนุมัติสิเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มบ้านในตลาดบ้านหรูระดับราคา 10-20 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูง 30-40%
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบ้านแนวราบที่ยังสามารถทำยอดขายได้ดียังคงเป็นกลุ่มบ้านหรู เนื่องจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังไม่อยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มบ้านแนวราบระดับราคา 3-7 ล้านบาท โดยปัจจุบันยอดปฏิเสธสินเชื่อกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งมียอดการปฏิเสธสินเชื่อ 60-70% ขณะที่กลุ่มบ้านราคา 5-7 ล้านบาทก็มียอดปฏิเสธสินเชื่อไม่ต่างกัน
แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบ้านหรูตลาดบนยังคงเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจเพราะนอกจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อไม่สูงมากนักแล้ว ซัปพลายสะสมในตลาดยังมีจำนวนน้อย ประกอบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ยังกระจายทำเลออกไปในบางทำเลเนื่องจากทำเลที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาโครงการบ้านหรูในตลาดระดับบนราคา 20 ล้านบาทหากได้ยาก ขณะที่สต๊อกบ้านในตลาดนี้มีจำกัดเพราะผู้พัฒนาโครงการจะไม่เร่งรีบในการเปิดโครงการใหม่ในทำเลที่มีซัปพลายสะสมจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ทำเลที่เหมาะกับการพัฒนาบ้านหรูในตลาดระดับบนโดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับลักชัวรี หรือซูเปอร์ลักชัวรรีในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลนั้นมีเพียงไม่กี่ทำเล หากไม่นับพื้นที่ย่านใจกลางเมืองซึ่งในปัจจุบันมีราคาที่ดินสูงมากจึงไม่เหมาะกับการพัฒนาบ้านแนวราบ โดยทำเลบ้านหรูระดับลักชัวรี และซูเปอร์ลักชัวรีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันมีอยู่ 6 ทำเล ประกอบด้วย
1.ทำเลสุขุมวิท โดยถนนสุขุมวิทเป็นถนนที่กลุ่มเศรษฐีและผู้มีรายได้สูงโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือเจ้าของธุกริจ ตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงเจ้าของธุกริจขนาดใหญ่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพราะสุขุมวิททำให้ทำเลถนนสุขุมวิทกลายเป็นตำนานของทำเลบ้านหรูตลอดกาล นื่องจากเป็นถนนที่ตัดผ่านใจกลางเมืองและเป็นย่านธุรกิจมากที่สุด และยังมีระบบคมนาคมรองรับการเดินทาสะดวกสบาย มีระบบรถไฟฟ้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้ทำเลและที่ดินในย่านนี้แถมยังมีจุดขึ้นลงทางด่วนที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ของเมืองได้อย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นเส้นทางหลักของรถไฟฟ้า ทั้งยังเต็มไปด้วยสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตแบบคนเมืองโดยเฉพาะไลฟ์สไตล์แบบลักชัวรีที่ย่านสุขุมวิทมีให้ครบทุกองค์ประกอบ ทำให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้มักจะเลือกอยู่อาศัยในทำเลสุขุมวิทเป็นอันดับต้นๆ
ขณะที่สองข้างทางบนถนนสุขุมวิทตั้งแต่ซอยต้นๆ ไปจนถึงซอยทองหล่อยังมีทำเลเด่นๆ ในซอยแยกย่อยลงไปที่ล้วนเป็นทำเลทอง สำคัญซึ่งครบองค์ประกอบการอยู่อาศัยตามไลฟ์สไตล์ เช่น ทำเลย่านชิดลม หลังสวน วิทยุ เพลินจิต นานา อโศก พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย และถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งทำเลและถนนที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นทำเลที่บริษัทอสังหาฯ ที่พัฒนาบ้านหรูต่างจับจ้องตาเป็นมัน
2.ทำเลย่านถนนกรุงเทพกรีฑา สำหรับถนนกรุงเทพกรีฑาได้ขยับขึ้นแท่นเป็นทำเลฮอตในช่วง 1-2 ปี หลังมีโครงการถนนตัดใหม่ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้รถวิ่งแล้ว ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ เบอร์ต้นๆ ของประเทศ และกลุ่มบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ไล่เก็บสะสมที่ดินในทำเลดังกล่าวตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า และมีการพัฒนาโครงการบนถนนเส้นนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการที่พัฒนาบนถนนเส้นนี้ล้วนแต่เป็นโครงการระดับลักชัวรีแทบทั้งสิ้น
“ปัจจัยที่ทำให้ที่ดินเลียบถนนเส้นนี้กลายเป็นทำเลบ้านหรู คือการขยายตัวของเมืองออกมาสู่ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ซึ่งมีระบบขนส่งรองรับ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่เปิดให้บริการไปแล้ว และเส้นทางใหม่ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ซึ่งทำให้เดินทางต่อไปยังจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้ง่าย รวมทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมๆ กับการตัดถนนขนาด 6-8 เลน เชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ได้สะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ทำเลนี้เป็นที่ต้องการของบริษัทอสังหาฯ โดยเฉพาะถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ซึ่งเรียกว่าถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่”
3.ทำเลย่านพระราม 9 สำหรับทำเลย่านพระราม 9 นี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เป็นทำเลที่เติบโตอย่างมาก จนกลายมาเป็นย่านใจกลางธุรกิจใหม่ของกรุงเทพฯ หรือ New CBD (Central Business District) โดยปัจจัยที่ผลักดันให้พระราม 9 กลายเป็นหนึ่งในทำเลบ้านหรูของกรุงเทพฯ คือการมีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์สถานีมักกะสัน เป็นจุดเชื่อมต่อกับ MRT สถานีเพชรบุรี โดยในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับ MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรม และยังจะมีจุดขึ้นลงทางพิเศษศรีรัชรองรับการเดินทางออกจากเมืองด้วย ขณะเดียวกันพระราม 9 ยังแวดล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้า สถานทูต โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ไฮเปอร์มาร์เก็ต และอาคารสำนักงาน ทำให้มีดีมานด์บ้านหรูเกิดในทำเลนี้
4.ทำเลเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา สำหรับทำเลถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เป็นทำเลบ้านหรูที่ได้รับความนิยมมาหลาย 10 ปีแล้ว และนับวันจะเป็นมีดีมานด์บ้ารหรูเพิ่มมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ได้เริ่มเปิดให้บริการยิ่งทำให้ราคาที่ดินในทำเลนี้ถีบตัวสูงขึ้น และกลายเป็นทำเลบ้านหรูที่ติดอันดับยอดนิยม เพราะมีองค์ประกอบในการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตที่ครบครัน โดยเฉพาะบนถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา ที่มีการพัฒนาโครงการระดับลักชัสรีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทำเลดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมาก
5.ทำเลย่านพัฒนาการ ถนนพัฒนาการเป็นทำเลที่มีบริษัทอสังหาฯ ให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่ออง โดยเฉพาะหลังการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ยิ่งถูกจับจองจากบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ เพราะเป็นทำเลที่ขยายตัวต่อเนื่องจากทำเลทองหล่อ เอกมัย และพระราม 9 ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาหลายซอย เลียบถนนพัฒนาการจึงมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับลักชัวรี เนื่องจากสามารถเดินทางเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองได้ง่าย เดินทางออกนอกเมืองด้วยถนนมอเตอร์เวย์ แถมยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังถนนบางนา-ตราดได้ ทำให้เป็นทำเลดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
6.ทำเลย่านบางนา ทำเลเลียบถนนบางนา-ตราด เรียกได้ว่าเป็นทำเลที่มาแรงที่สุดในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะด้วยศักยภาพของทำเลที่เชื่อมต่อไปพื้นที่ต่างๆ อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว โดยเฉพาะการเดินทางเชื่อมต่อจังหวัดทางภาคตะวันออก และเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับอย่างครบครัน เช่น ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ศูนย์การค้าเมกาบางนา ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในโซนทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราดเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่ไปตามแนวถนนบางนา-ตราด ไปจนถึงช่วงประมาณกิโลเมตรที่ 15 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างจากในอดีต อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหลายโครงการยังอยู่ในช่วงการก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
จากผลการสำรวจพื้นที่โดยพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะในทำเลหรือพื้นที่ที่อยู่รอบๆ จุดตัดของถนนบางนา-ตราด และถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ “เมกาบางนา” เปิดให้บริการ ประกอบกับถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก หรือวงแหวนตะวันออก มีการขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6-8 ช่องจราจร ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก และถนนสายรองที่แยกออกไปกลายเป็นทำเลที่มีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเปิดให้บริการเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตามแนวถนนศรีนครินทร์ และต่อเนื่องมาถึงถนนบางนา-ตราด บางส่วน เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้บางพื้นที่มีศักยภาพสูงขึ้น
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของย่านนี้ แต่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว กลายเป็นโกดังสำเร็จรูปให้เช่า หรือโลจิสติกส์แวร์เฮาส์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งแบบแบ่งพื้นที่เช่า แบบเช่าทั้งอาคาร และแบบก่อสร้างตามที่ผู้เช่าในระยะยาวต้องการ โดยเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา และมีผลต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้อีกด้วย โดยเฉพาะจากกลุ่มนักธุรกิจ เจ้าของธุรกิจที่เป็นชาวจีนหรือต่างชาติอื่นๆ ซึ่งมีความต้องการบ้านราคาแพงในพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด รวมไปถึงการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมใน EEC ที่ส่งผลถึงพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราดด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่มาถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 15 มีโครงการอสังหาฯ หลากหลายรูปแบบที่รองรับการใช้ชีวิต และสนับสนุนให้พื้นที่นี้มีศักยภาพที่สูงขึ้น มีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตีมอลล์อีกหลายแห่ง โรงเรียนนานาชาติมากกว่า 10 แห่ง ที่มีหลายระดับการศึกษา และหลายรูปแบบของระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชนหลายแห่งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่นี้ รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐบาล และโรงพยาบาลอินเตอร์
นอกจากนี้ ยังมีอาคารสำนักงานใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมพื้นที่เช่าของอาคารสำนักงานทั้งหมดแล้วไม่ต่ำกว่า 175,000 ตารางเมตร และยังมีอาคารสำนักงานที่กำลังก่อสร้างอยู่อีกหลายอาคาร ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีพื้นที่อาคารสำนักงานในทำเลนี้มากกว่า 200,000 ตารางเมตร และถ้ารวมอาคารสำนักงานในพื้นที่ใกล้เคียงบนถนนสุขุมวิทคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ตารางเมตร ทำให้มีคนเข้ามาทำงานในพื้นที่ย่านนี้และพื้นที่ต่อเนื่องตามแนวถนนสุขุมวิท และ ถนนศรีนครินทร์ไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อวัน
ส่วนการเชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่ย่านนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดข้างเคียงถือว่าสะดวกสบาย เพราะมีถนนบางนา-ตราด เชื่อมต่อกับถนนเส้นทางอื่นๆ เช่น ถนนศรีนครินทร์ กิ่งแก้ว และสุขุมวิท เป็นต้น รวมทั้งยังมีทางพิเศษบูรพาวิถีที่สามารถใช้เดินทางไปจังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออกได้ ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อพื้นที่รอบกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ครบทุกทิศทางแล้ว อีกทั้งยังมีทางพิเศษสาย S1 หรือทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และยังไม่ไกลจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งสามารถเดินทางไปถึงจังหวัดระยองได้
ขณะที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้สะดวกสบายแบบครบวงจร เพราะต้องใช้รถโดยสารประจำทางเพื่อไปต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ในอนาคตถ้าโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา หรือ Light Rail สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่สอ (M-Map Phase 2) เกิดขึ้นจริงจะยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ย่านนี้ให้มากขึ้นไปอีก รวมถึงหากโครงการรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบินและEEC กับกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันเริ่มเป็นรูปธรรม จะเป็นผลดีให้พื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราดในอนาคต ทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้าต่างๆ จะสะดวกมากขึ้น
นายสุรเชษฐ กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีโครงการบ้านจัดสรรในระดับราคาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เปิดขายมากขึ้นในหลายทำเลรอบกรุงเทพฯ และในจังหวัดปริมณฑลที่ต่อเนื่องกับกรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีโครงการระดับนี้เปิดขายต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ในช่วงที่อยู่เลยวงแหวนกาญจนาภิเษกไปแล้วกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เปิดขายมาต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจตอบรับจากกำลังซื้อในตลาดที่ดีมาก โดยบางโครงการสามารถปิดการขายหรือมียอดจองมากกว่า 70% หลังจากเปิดขายแบบเป็นทางการไปไม่นาน
“ช่วงปี 2564 มีโครงการบ้านจัดสรรระดับราคาเริ่มต้นที่ 10 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปทยอยเปิดตัวในย่านบางนา-ตราด แต่หลังจากปี 2565 เริ่มมีบ้านจัดสรรที่เปิดขายในราคาไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาทต่อยูนิต เข้าสู่ตลาดบนย่านแห่งนี้ และได้รับความสนใจจากกลุ่มคนซื้อไม่น้อย ทำให้คาดการณ์ในระยะยาวได้ว่าจะมีโครงการในระดับราคานี้เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน รวมทั้งอาจจะมีบ้านจัดสรรที่มีราคาขายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิต เปิดขายใหม่มากขึ้น บางนา-ตราด อาจจะเป็นอีกหนึ่งทำเลของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีบ้านราคาแพงเปิดขายมากต่อเนื่องในอนาคต”
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงในช่วงถนนบางนา-ตราด หลักกิโลเมตรที่ 10 หรือเลยไปถึงหลักกิโลเมตรที่ 15 เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บริทาเนีย เอพี(ไทยแลนด์) และเอสซี แอสเสท ในราคาขายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิต และมีบางโครงการเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไป ถึงหลัก 80 ล้านบาทก็มี
ส่วนล่าสุดที่กลุ่มแสนสิริได้เปิดตัวโครงการใหม่ “SANSIRI 10EAST” บนพื้นที่ 165 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านบาท ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันศักยภาพของพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะในช่วงหลักกิโลเมตรที่ 10 ของ ถนนบางนา-ตราด ให้สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะโครงการมีเนื้อที่ขนาดใหญ่ และมีถึง 4 แบรนด์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันพร้อมกับสินค้าบ้านหรูระดับลักชัวรีที่มีราคาขายเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิต และบางโครงการมีราคาขายเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อยูนิตแน่นอน ล่าสุด มีข่าวว่าราคาขายสูงสุดอาจจะอยู่ที่ 500 ล้านบาทต่อยูนิต จึงถือได้ว่ากลุ่มแสนสิริเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีโครงการในระดับ Luxury และ Super Luxury ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันบนทำเลบางนา-ตราด