xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยโต 2.4% ชี้โจทย์ท้าทายทางการคลัง แนะช่วยเฉพาะกลุ่ม-เพิ่มช่องหารายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ฉบับใหม่ โดยคาดการณ์เศรษฐกิจจะเติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.4 ในปี 2567 และคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 2.8 ในปี 2568 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐหลังจากความล่าช้าในช่วงต้นปี

การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแต่การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้าๆ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2568 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.7 ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานลดลง

ด้านหนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 64.6 ในปี 2568 และการขาดดุลการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาเป็นปกติ ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาล

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจําไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังขณะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางความต้องการด้านการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือทางสังคมและการให้เงินช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้ภาษี ส่งเสริมความเสมอภาค สร้างช่องว่างทางการคลัง และกระตุ้นการลงทุนได้

"ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่สําคัญ ซึ่งรวมถึงความท้าทายด้านผลิตภาพและการลดลงของประชากรวัยทํางานจากแนวโน้มด้านประชากรของประเทศ ดังนั้น การฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเมืองรองของไทยหลายเมืองมีศักยภาพที่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และเป็นกุญแจสําคัญในการนำประเทศกลับสู่เส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน"
กำลังโหลดความคิดเห็น