xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นกองทุนวายุภักษ์ อีก 2 เดือนเห็นแน่ เล็งใช้กองเดิมเร็วกว่าตั้งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางในส่วนของกระทรวงการคลัง ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการพิจารณานโยบายการลงทุนผ่านกลไกของกองทุนเดิมที่มีอยู่ คือ กองทุนวายุภักษ์ 1 หรือกองทุนวายุภักษ์ 2 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ให้เข้าสู่ตลาดทุนไทยได้เร็วกว่าการจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา และเร็วกว่าการรอเม็ดเงินจากกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ที่แม้จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการลงทุนใหม่แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่กว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดทุนต้องรอช่วงปลายปี เพราะนักลงทุนต่างต้องการใช้สิทธิสำหรับการลดหย่อนภาษี

ปลัดกระทรวงการคลังคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนจึงสามารถดำเนินการได้ และเชื่อว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดทุนได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท

"วันนี้ตลาดทุนมีความจำเป็นต้องมีเงินใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดทุน ถ้าจะรอ TESG คงต้องใช้เวลา ดังนั้นจะดีกว่าไหมถ้าจะมีเม็ดเงินอีกก้อนหนึ่งเข้ามาสู่ตลาดทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ เป็นสิ่งที่ สคร.กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะ implement ไม่ใช่แค่เสนอเรื่อง แต่น่าจะมีเม็ดเงินเข้าไปได้ คาดว่าจะมากกว่า 1 แสนล้านบาท" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า การจะใช้กลไกของกองทุนวายุภักษ์เดิม หรือกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะผลลัพธ์เหมือนกัน คือมีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ตลาดทุน แต่ประเด็นสำคัญ คือ ความรวดเร็วของเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ตลาดทุน ซึ่งเชื่อว่าในเร็วๆ นี้ความชัดเจนจะเริ่มทยอยออกมา

"ล่าสุด ที่คุยกันคิดว่าใช้กองเดิม เพราะทำได้เร็วกว่า สิ่งที่รัฐบาลให้นโยบายคือ จะกองใหม่ กองเก่าไม่ใช่ประเด็น แต่อันไหนเร็วกว่า เอาอันนั้น สคร.มีการบ้านเยอะ ต้องไปดูนโยบายการลงทุน การการันตีผลตอบแทน ต้องดูที่นโยบายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง และมีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่ช้า จะมีความชัดเจนออกมาเรื่อยๆ ต่อไปนี้สิ่งที่จะชัดเจน คือ ขนาดกองทุนประมาณไหน ขายให้ใครบ้าง และจะออกมาเมื่อไร" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

พร้อมย้ำว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาในตลาดทุนไทยนั้นคงไม่ใช่แต่เรื่องของเม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการสร้างความมั่นใจให้ตลาดทุนด้วย ซึ่งเชื่อว่าในมิตินี้เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น