xs
xsm
sm
md
lg

‘CHAO’ ประกาศราคาเสนอขาย IPO ที่ 11.80 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ 1-3 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เจ้าสัว" ประกาศราคาเสนอขาย IPO ที่ 11.80 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อวันที่ 1-3 ก.ค.นี้ วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต มุ่งสู่ตลาดระดับโลก
 
เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี ประกาศราคาเสนอขาย IPO ที่ 11.80 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อตั้งแต่ 1-3 กรกฎาคมนี้ เพื่อนำเงินลงทุนสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 และขยายกำลังการผลิต รองรับการขยายการส่งออกสู่ตลาดระดับโลก พร้อมกับลงทุนในระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ (Automation) ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO ลงนามแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ พร้อมแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญอีก 5 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (2) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (3) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (4) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และ (5) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจาก บมจ.เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. ปัจจุบันแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) มีผลใช้บังคับแล้ว โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ล่าสุดได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่ 11.80 บาทต่อหุ้น และจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2567

บริษัทมีความแข็งแกร่งในการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ โดยบริษัทถือเป็นผู้นำในกลุ่มขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ (Modern Thai Snack) ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นผู้นำในตลาดข้าวตังและตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู ทั้งนี้ เมื่ออ้างอิงข้อมูลรายงานภาวะอุตสาหกรรมของ Frost & Sullivan ในปี 2565 กลุ่มบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ทั้งในตลาดข้าวตังและตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู (Pork Snack)

โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 78.5% และ 57.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทยังมีศักยภาพเติบโตผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกโอกาสและสามารถรับประทานได้ทุกวัน (Everyday Consumption) การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและฐานลูกค้าให้ครอบคลุม รวมถึงการขยายไปสู่ตลาดระดับโลก ด้วยแนวคิด ‘Bring Local to Global’ เพื่อสร้างแบรนด์เจ้าสัวให้เป็น Global Brand โดยมองว่าจากพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน และความสามารถในการทำอัตรากำไร จะทำให้เจ้าสัวเป็นหุ้น IPO คุณภาพอีกหนึ่งบริษัท

น.ส.ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO กล่าวว่า บริษัทมีแผนลงทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนี้ 1) ก่อสร้างโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 รวมทั้งลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อรองรับการผลิต เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์ภายใต้โรงงานโฮลซัม ประมาณ 2,000 ตันต่อปี รองรับการขยายตลาดส่งออกในต่างประเทศในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เนื้อหมู (Non-Pork) 2) ขยายกำลังการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้โรงงานโฮลซัม โดยเพิ่มกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์ประมาณ 770 ตันต่อปี และเพิ่มกำลังการผลิตข้าวตังดิบประมาณ 600 ตันต่อปี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากเนื้อสัตว์ทะเลประมาณ 600 ตันต่อปี 3) พัฒนาระบบอัตโนมัติ (Automation) 

และการปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) ในการผลิต และช่วยลดจำนวนพนักงานฝ่ายผลิต เช่น เครื่องบรรจุอัตโนมัติ (Autopack) เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาโปรแกรมสำหรับจัดการทางด้านคำสั่งซื้อขายและระบบโลจิสติกส์ และพัฒนาไลน์การผลิตสินค้าแครกเกอร์ธัญพืชให้เป็นแบบอัตโนมัติทั้งไลน์สำหรับโรงงานโฮลซัม และระบบตู้อบต่อเนื่องสำหรับสินค้าหมูแท่งสำหรับโรงงานเจ้าสัว

4) ขยายกำลังการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้โรงงานเจ้าสัวและคลังสินค้า โดยเพิ่มกำลังการผลิตขนมขบเคี้ยวข้าวตังภายใต้โรงงานเจ้าสัว ประมาณ 870 ตันต่อปี และเพิ่มกำลังการผลิตขนมขบเคี้ยวประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป 125 ตันต่อปี รวมถึงเพิ่มชั้นวางวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย และพัฒนาระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ (Warehouse Automation & Racking) เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บสินค้า ประมาณ 2.5 เท่าจากระบบ Racking ในปัจจุบัน 5) ลงทุนโครงการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 1, 2 และคลังวัตถุดิบ เพื่อช่วยประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งปรับปรุงระบบความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทขยายโรงงานโฮลซัมแห่งที่ 2 และขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับศักยภาพการเติบโตในต่างประเทศ โดยปัจจุบันวางจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกชั้นนำในประเทศต่างๆ กว่า 12 ประเทศ มีตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว (Snack) ที่มีแนวโน้มการเติบโต และมีอัตราการทำกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ที่สูง พร้อมทั้งเดินหน้าขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต โดยรายได้จากการส่งออกในปี 2564 2565 และ 2566 อยู่ที่ 216.2 ล้านบาท 343.6 ล้านบาท และ 413.3 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบเฉลี่ยที่ 38.26% จากการเริ่มส่งออกขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากหนังปลาไปยังประเทศจีน รวมถึงมีการส่งออกผลิตภัณฑ์แครกเกอร์ธัญพืช ภายใต้แบรนด์ “โฮลซัม (Wholesome)” ให้ห้างสรรพสินค้าที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมากในต่างประเทศ

“เจ้าสัวมุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ที่ผ่านการวิจัยตลาดให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค สร้างความแตกต่าง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รักษาการเป็นผู้นำในตลาดขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การขยายช่องทางให้ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้เจ้าสัวเติบโตตามเป้าหมายอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว” น.ส.ณภัทร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น