นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ควรจะรอเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ โดยระบุว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม G20 ที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะอยู่ในช่วงขาขึ้น
"เราตระหนักถึงความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงขาขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงเหล่านี้ เราจึงเห็นว่าเฟดควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันไปอีกอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2567" นางกอร์เกียวากล่าว โดยเฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2566
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า IMF คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ จะอยู่ที่ระดับ 2.5% ในช่วงสิ้นปี 2567 และคาดว่าจะแตะระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่เฟดกำหนดไว้ที่ 2% ภายในช่วงกลางปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2569
นางกอร์เกียวา กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปทานด้านแรงงานและประสิทธิภาพด้านการผลิต พร้อมระบุว่า เฟดจำเป็นต้องรอหลักฐานที่ชัดเจนว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ กำลังปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
สหรัฐฯ มีกำหนดเปิดเผยดัชนี PCE ประจำเดือน พ.ค.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานจะปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือน เม.ย. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือน เม.ย.