xs
xsm
sm
md
lg

'ทางสองแพร่ง' เปิดต่างชาติซื้อคอนโดฯ 75% เช่า 99 ปี เอกชนจี้รัฐออก กม.ต้องเข้ม เผย Q1 ราคาโอนห้องชุดมากสุดไม่เกิน 3 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องเรียกว่าสั่นสะเทือนไปทั่ววงการ เมื่อรัฐบาล "เศรษฐา" เตรียมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหาภาค ผ่านการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นเพียงการหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งจะว่าเป็นไปแล้ว เป็นการ 'โยนหินถามทาง' ถือเป็นโอกาสซาวเสียงสนับสนุนและมอนิเตอร์เสียงคัดค้านที่จะออกมา เริ่มจาก

1.การพิจารณาทบทวนการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิตามพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 โดยกำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิมีกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 99 ปี (จากเดิมอย่ที่ 30 ปี และซึ่งก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมที่ดิน ได้ออกมาระบุว่า การออกพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 เป็นทางเลือกและเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินและนักลงทุนได้มีทางเลือกในการใช้อสังหาริมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่กระตุ้นให้เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของห้องชุดที่ทอดทิ้งทรัพย์สินไม่ทำประโยชน์ให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

2.การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ (สิทธิการซื้อคอนโดมิเนียม) ในห้องชุด จากเดิมไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 75%

ซึ่งปฏิกิริยาจากแนวทางที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ 2 ฉบับ เพื่อกระตุ้นการลงทุน ฟาก 18 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องของแผนในการรองรับหากมีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ

โดยสาระสำคัญของคำแถลงการณ์จาก 18 สมาคมอสังหาฯ นั้น นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เป็นผู้แทน ได้กล่าวว่า สมาคมมุ่งมั่นในการวางโครงสร้างธุรกิจอสังหาฯ และจัดระเบียบควบคุมการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต โปร่งใสเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ

ซึ่งในเรื่องขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่มีความมั่นคงเพียงพอ และจะทำให้การเช่าที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการซื้อที่อยู่อาศัยหรือการเช่าที่อยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวต่างชาติ ส่วนข้อกังวลในเรื่องที่ชาวต่างชาติจะถือครองที่ดินทางอ้อม หรือใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมสามารถวางกรอบของกฎหมายที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามข้อกำหนดของผังเมือง กำหนดเขตพื้นที่ หรือจำนวนเนื้อที่สำหรับการเช่าของชาวต่างชาติได้

การขยายสิทธิอาคารชุดของคนต่างชาติให้เป็น 75% จะเป็นการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติที่มาลงทุน หรือมีวัตถุประสงค์จะอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ซื้อที่อยู่อาศัยโดยถูกต้องตามกฎหมาย แก้ปัญหาในเรื่องการซื้อ หรือการถือครองที่อยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ทางสมาคมได้เสนอมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบสิทธิของคนไทย (พิจารณาตารางประกอบ)

ด้าน ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ให้ความเห็นว่า การจัดทำเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ชัดเจนครั้งนี้เป็นการควบคุมคนต่างชาติ และปิดช่องต่างชาติทั้งหมด ไม่ให้มีการครอบงำต่างๆ ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น การจัดค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าอัตราของคนไทยถึง 2 เท่าในตอนซื้ออสังหาฯ ครั้งแรก ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท สามารถนำรายได้ส่วนนี้มาจัดตั้งกองทุนอสังหาฯ เหมือนคล้ายกับกองทุนน้ำมัน โดยจะนำรายได้ไปสนับสนุนการทำสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้ได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือรองรับการทำจัดตั้ง "มอร์เกจ อินชัวรันส์"ได้

อย่างไรก็ตาม ความร้อนแรงในการแก้กฎหมาย 2 ฉบับ หลายฝ่ายมีความกังวลที่จะ "เอื้อนายทุน" หรือ "เจ้าสัวที่มีแลนด์แบงก์สะสมเป็นจำนวนมาก" นั้น นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า "ตนคิดว่าคงไม่ได้กระทบอะไร เพราะเรื่องที่เราจะเช่าระยะยาวก็มีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ถูกพับไป เรื่องขายที่ดิน อันนี้เป็นประเด็นใหญ่มากกว่า ซึ่งเราไม่ได้เสนอตรงนี้เข้ามา"


เอกชนจี้รัฐต้องออก กม.ให้เข้ม 
กระหึ่มโซเชียล 'ค้าน' เช่า 99 ปี!


ทั้งนี้ แม้เรื่องการแก้ไขยังอยู่ในกระบวนการที่กระทรวงมหาดไทยจะไปดำเนินการ แต่ภาคเอกชนมีความกังวลอย่างหนักต่อเรื่องดังกล่าว โดย นายอิศเรส รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมายืนยันว่า รัฐบาลควรมีข้อคำนึงในประเด็นใหญ่ๆ เพื่อให้กฎหมายมีความรัดกุม โปร่งใส และไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ไม่ให้มีการค้าแบบรายวัน แข่งขันกับโรงแรม ไม่ใช่ว่าช่วยกันซื้อแล้วมาปล่อยเช่ารายวัน ซึ่งผิดกฎหมาย เหมือนคอนโดฯ หลายแห่ง คอนโดฯ หลายแห่งมีการถือผ่านนอมินี ต้องคำนึงถึงทัวร์ต่างชาติที่มาใช้บริการจากคอนโดฯ ที่มีเจ้าของเป็นชาติเดียวกัน ควรมีมาตรการที่รัดกุม หาทางด้อยสิทธิในการโหวตของต่างชาติ เพราะคนไทยอีก 26% เสียงจะน้อยกว่า และห้ามขายที่ดินให้ต่างชาติโดยเด็ดขาด

ด้าน นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ให้มุมมองก่อนหน้านี้ว่า การให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี นับว่ามากเกินความจำเป็น และยังมีโครงการคอนโดฯ เป็นจำนวนมากที่ยังมีห้องชุดว่างให้ต่างชาติซื้อ

ขณะที่ในโลกโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นประเด็นดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการขยายระยะเวลาการถือครองเป็น 99 ปี และเรื่องการเปิดให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ 75% และอาจจะเป็นส่งเสริมให้ราคาที่ดินพุ่งแรงเกินความจำเป็น!

ต่างชาติโอนห้องชุดทั่วประเทศ Q1 เพิ่มขึ้น 16.7%

ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ โดยดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฯ ออกมาย้ำถึงสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติว่า ในไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 3,938 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.3% มีมูลค่ารวม 18,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% โดยเป็นพื้นที่โอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติทั่วประเทศจำนวน 173,007 ตารางเมตร (ตร.ม.) เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ในไตรมาสนี้ สัดส่วนหน่วยและมูลค่าโอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติต่อการโอนทั่วประเทศขยับเพิ่มขึ้นเป็น 16.7% จาก 15.9% และร้อยละ 28.6% จาก 24.3% ตามลำดับ ในด้านของพื้นที่ห้องชุดที่มีการโอนเพิ่มขึ้นเป็น 21.1% จาก 19.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นไตรมาสที่มีสัดส่วนที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561

จังหวัดชลบุรีมาเป็นอันดับ 1 ที่มีการโอนให้ต่างชาติ จำนวน 1,521 หน่วย สัดส่วน 38.6% มูลค่า 4,165 ล้านบาท กรุงเทพฯ อันดับ 2 จำนวน 1,498 หน่วย สัดส่วน 38% มูลค่า 10,699 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึง 76.6% และ 82.5% ตามลำดับ ทั้งนี้ และยังมีจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสมุทรปราการ ที่ติดอยู่ใน 5 อันดับที่ต่างชาติโอนห้องชุดเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของชาวต่างชาติในการซื้อห้องชุดในเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด

โดยชาวจีนยังคงมาเป็นอันดับ 1 ที่มีการโอนมากถึง 1,596 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.8 มูลค่า 7,570 ล้านบาท รองลงมาเป็น ชาวพม่า ชาวรัสเซีย ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าชาวพม่าเป็นสัญชาติที่มีจำนวนหน่วยโอนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 415.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่จากข้อมูลตรงนี้ ราคาห้องชุดที่มีการโอนให้คนต่างชาติมากที่สุดอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 3.00 ล้านบาท มีสัดส่วน 52.9% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด (เป็นตลาดเดียวที่กลุ่มคนไทยต้องการซื้อคอนโดฯ) รองลงมาคือ ระดับราคา 3.01-5 ล้านบาท มีสัดส่วน 22.7% ขนาดห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติมาก เป็นขนาดพื้นที่ 31-60 ตร.ม. (ประเภท 1-2 ห้องนอน) โดยมีสัดส่วน 49.6%

ดังนั้น เมื่อมาพิจารณาขนาดและราคาเฉลี่ย จะพบว่า ในไตรมาส 1 ปี 67 มีขนาดเฉลี่ย 43.9 ตร.ม. มูลค่าเฉลี่ย 4.6 ล้านบาท/หน่วย หรือประมาณ ตร.ม.ละ 104,119 บาท สำหรับผู้ซื้อสัญชาติจีนมีการโอนมากที่สุดในบรรดาชาวต่างชาติ มีมูลค่าการโอนเฉลี่ย 4.7 ล้านบาท/หน่วย และพื้นที่ห้องชุดเฉลี่ย 39.6 ตารางเมตร

สำนักบริหารอาคารชุดฟันธงคอนโดฯ ไม่เต็ม 49%

นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์ นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด-หมู่บ้านจัดสรรไทย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงแนวทางที่รัฐบาลจะเปิดกว้างให้ต่างชาติได้กรรมสิทธิ์ซื้อห้องชุดเป็น 75% ว่า โดยส่วนตัวแล้วยังไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะไปขยายเพดานให้มากถึงตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากในปัจจจุบันตามข้อเท็จจริง ต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯ แล้วมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย 49% นั้นมีน้อยมากๆ และต่อให้รัฐบาลขยายเพดานให้มาก แต่กำลังซื้อของคนต่างชาติจริงๆ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

"สิ่งที่เราเห็นคือกลุ่มผู้ซื้อหลักจริงๆ เราปฏิเสธไม่ได้ คือ กลุ่มชาวจีน แต่เราเอากลุ่มผู้ซื้อที่ขาดกำลังซื้อมาซื้อจะกระเตื้องได้แค่ไหน ทุกวันนี้จากการบริหารห้องชุดให้โครงการต่างๆ ในโซนจังหวัดชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ นั้นห้องที่เหลืออยู่นั้นดีเวลลอปเปอร์ไม่ได้หวังขายคนไทยแล้ว เพราะขอสินเชื่อไม่ได้ กู้ไม่ผ่าน แต่เจ้าของโครงการมีความหวังว่าการที่จะปล่อยห้องชุดได้ต้องอาศัยกำลังซื้อจากต่างชาติ แต่ตัวเลขจริงๆ ขยับ ขายได้น้อยมาก ยอมรับว่าโควตาในคอนโดฯ เหลือสัดส่วนอีกมาก หรือแม้แต่โครงการคอนโดฯ ที่พัทยา ที่อำเภอบางละมุง ที่บริษัทได้เข้าไปบริหารอาจจะมีให้เห็นสัดส่วนเกือบเต็มเพดานบ้าง มีชาวรัสเซียมาอยู่และซื้อไปสัดส่วนถึงร้อยละ 45 ซึ่งผ่านมาหลายปีมากแล้ว"

นายพิสิฐ มองว่า หากในอนาคต กฎหมายผ่านจริงๆ สิ่งที่ต้องพึ่งระวังและต้องวางเป็นมาตรฐาน คือ การคุมเสียงโหวตเรื่องหลัก เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยคนไทยยังมีความสำคัญอยู่ เพราะอย่าลืมว่า ปัญหาเรื่องนิติบุคคลอาคารชุดมีให้พบเห็น เช่น ผู้ซื้อในปีละแรกจะต้องจ่ายเงินค่าส่วนกลางและเข้าเงินกองทุน แต่รู้หรือไม่ ในปีที่ 2 ชาวต่างชาติไม่ยอมชำระเรื่องค่าส่วนกลาง แม้จะมีเอกสารส่งไปยังเจ้าของห้องก็ตาม หรือในกรณีมีการนำห้องไปปล่อยเช่ารายวันให้คนต่างชาติของประเทศตนเอง มีเรื่องของการละเมิดสิทธิในการขึ้นไปห้องพักของเพื่อนโดยที่ไม่มีบัตร แต่ใช้สิ่งของวางขั้นที่ประตูหนีไฟ เป็นต้น


ราคาคอนโดฯ อาจปรับสูงขึ้น

นายสุรเชษฐ์ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ Property DNA กล่าวว่า ถ้าเรื่องของการที่ชาวต่างชาติสามารถถือครองคอนโดฯ ได้ไม่เกิน 75% ผ่านการพิจารณาและอนุมัติเป็นกฎหมายจริงๆ ควรมีความชัดเจนในเรื่องอื่นๆ ตามมาด้วยว่า นอกจากจะถือครองได้ไม่เกิน 75% ของพื้นที่ขายของโครงการแล้ว ชาวต่างชาติที่ถือครองคอนโดฯ ในประเทศไทยควรต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมาเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการที่ชาวต่างชาติที่จะซื้อต้องเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น หรือมีข้อกำหนดต่างๆ ควบคู่ไปกับการอนุมัติให้ถือครองได้ไม่เกิน 75% เช่น

ชาวต่างชาติต้องซื้อคอนโดฯ ในโครงการที่อยู่ในกรุงเทพฯ เขตเทศบาล หรือบริเวณที่กำหนดได้เท่านั้น ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทุกกรณีไม่ว่าจะซื้อราคาเท่าใดก็ตาม ต้องเป็นการซื้อโดยใช้ชื่อบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่สามารถขายต่อให้นิติบุคคลอื่นๆ แม้ว่าจะเป็นนิติบุคคลที่อยู่ในไทยมานานแล้วก็ตาม ต้องมีหลักฐานการทำงานหรือเอกสารว่าทำงานในประเทศไทยชัดเจนเป็นหลักแหล่ง ต้องซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาทต่อยูนิต หรือในระดับราคาที่สูงกว่าคนไทย ต้องถือครองไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปีจึงจะขายต่อให้บุคคลอื่นได้ ต้องเสียภาษีจากการขายคอนโดฯ ที่ซื้อไว้ในอัตราที่มากกว่าคนไทย ชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดฯ ในไทยแล้วส่งต่อเป็นมรดกให้บุคคลอื่นต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน ชาวต่างชาติที่มีชื่อเป็นเจ้าของคอนโดฯ ใน 1 โครงการ จะมีสิทธิออกเสียงในการลงคะแนนของโครงารนั้นๆ ได้เพียง 49% เท่านั้น และพระราชบัญญัตินี้ควรมีระยะเวลาจำกัดไม่เกิน 5 ปีนับจากวันที่ประกาศบังคับใช้วันแรก แบบที่เคยประกาศแบบนี้ตอนปี พ.ศ.2542

ข้อบังคับเหล่านี้บางข้อเป็นข้อบังคับที่ควรมีในกรณีเพื่อป้องกันการเข้ามาของเงินหรือชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรม หรือมีการทำธุรกิจที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนบางกลุ่มที่อยู่ในไทยอยู่แล้วและใช้ชื่อนิติบุคคลเป็นเจ้าของคอนโดฯ ในไทย

เรื่องของอัตราภาษี และภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของชาวต่างชาติในกรณีที่เข้ามาซื้อคอนโดฯ ในไทยควรมีการกำหนดให้มีความชัดเจน และมีการบังคับใช้ที่เข้มงวดไม่มีการผ่อนปรน หรือละเลยใดๆ เพื่อที่จะได้เงินเข้าประเทศตามที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านตลาดอสังหาฯ

"อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการผลักดันราคาคอนโดฯ ในไทยแพงขึ้น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศ เช่น แคนาดา ประสบปัญหาในเรื่องที่มีชาวต่างชาติเข้าไปซื้ออสังหาฯ ทั้งบ้าน และคอนโดฯ กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาอสังหาฯ ปรับเพิ่มขึ้นไปมากเกินกว่าที่คนในแคนาดาจะสามารถซื้อได้ จนรัฐบาลต้องออกกฎหมายไม่ให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาฯ ในประเทศตนเองเป็นระยะเวลา 2 ปี เพราะราคาอสังหาฯ ขึ้นไปถึงร้อยละ 48 ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2566 หรือประมาณปีละร้อยละ 4.8 ซึ่งไม่ได้มากมายเท่าใด โดยกฎหมายนี้เริ่มบงคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2566"

สำหรับเรื่องที่ราคาคอนโดฯ ในไทยจะแพงขึ้น เพราะการเข้ามาของชาวต่างชาตินั้นอาจจะไม่ได้มากมายถึงขนาดที่ว่าคนไทยจะไม่สามารถซื้อได้ การที่ราคาคอนโดฯ ในไทยแพงขึ้นนั้น ปัจจัยหลักมาจากปัจจัยในประเทศทั้งนั้น ทั้งเรื่องของราคาที่ดิน และต้นทุนในการก่อสร้าง ชาวต่างชาติไม่ได้ไล่ซื้อในราคาที่แพงขึ้นทุกครั้ง พวกเขาค่อนข้างพิจารณาในการซื้อคอนโดฯ โดยเฉพาะในเรื่องของราคา ยกเว้นผู้ซื้อจากบางประเทศที่อาจจะรีบซื้อในบางช่วงเวลา เช่น พม่าที่รีบซื้อในช่วงที่ผ่านมาจนราคาเฉลี่ยต่อยูนิตของพวกเขาขึ้นไปถึง 5.6 ล้านบาทต่อยูนิต นั่นเพราะพวกเขามีปัญหาภายในประเทศ ผู้ซื้อชาวจีนก็เช่นกัน ที่ไม่ได้ซื้อแพงหรือซื้อทุกระดับราคา ช่วงก่อนหน้านี้ 5-6 ปี อาจจะมีกลุ่มผู้ซื้อแบบนั้นบ้าง แต่ตอนนี้พวกเขามีความรู้ ความเข้าใจในตลาดคอนโดฯ มากขึ้นแล้ว ราคาเฉลี่ยคอนโดฯ ที่คนซื้อในช่วงไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2567 มากกว่าราคาเฉลี่ยที่พวกเขาซื้อตอนไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2563 ประมาณร้อยละ 7.45 ซึ่งแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อพิจารณาเป็นรายปี"

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ และเรื่องที่จะขยายระยะเวลาในพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 เป็น 99 ปี อาจจะเป็นการโยนหินถามทางของรัฐบาล เพราะยังอยู่ในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้ การยกร่างกฎหมาย และผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และยังมีขั้นตอนการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ถ้ามีเสียงคัดค้านเยอะอาจเงียบหายไป หรือตกไปในขั้นตอนต่างๆ ก่อนจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น