xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ระดับ 36.75 มีโอกาสผันผวนอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (26 มิ.ย.) ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.63-36.75 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนที่ผ่านมาออกมาผสมผสานและสะท้อนภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจ (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีกว่าคาดเล็กน้อย ทว่าดัชนีสะท้อนภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจ) ทว่าเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับระยะสั้น หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดสต๊อกน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ เพื่อประเมินความต้องการใช้พลังงานในระยะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันสามารถส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้บ้าง (โฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันมีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว 2 ครั้งในปีนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงบ้างหลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในช่วงโซนแนวต้าน 36.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 37 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยที่สามารถกดดันเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับหลักแถว 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เราประเมินว่าแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังตลาดหุ้นไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่แรงกดดันในฝั่งตลาดบอนด์ไม่ได้มีมากนัก ตราบใดที่บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways และปัจจัยการเมืองไทยยังไม่ได้เข้ามากดดันตลาดการเงินเพิ่มเติม

แม้เราจะประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมากนัก แต่การแข็งค่าต่อเนื่องยังเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งในช่วงปลายเดือนเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และบรรดาสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ จากฝั่งผู้นำเข้าอยู่ ซึ่งทำให้เงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น