xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปีหลังหุ้นไทยมีลุ้นฟื้นตัว ด้าน ศก.ยังเผชิญความเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพรวมหุ้นไทย มีโอกาสฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การกลับมาของกองทุน LTF และสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่เศรษฐกิจโลกช่วง2ปี ยังเติบโตน้อยกว่าก่อนโควิด ส่วนเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง

การฟื้นตัวของดัชนีหลักทรัพย์ล่าสุด (21มิ.ย.)ที่ระดับ 1,306.41 จุด เพิ่มขึ้น 8.12 จุด หรือ 0.63% อาจไมใช่จุดสิ้นสุดในการต่ำสุดของดัชนีฯ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งภายในประเทศ และจากต่างประเทศที่พร้อมเข้ามากดดันดัชนีหุ้นไทยที่ต่ำอยู่แล้ว ให้มีโอกาสต่ำลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าใกล้ช่วงครึ่งหลังปี2567 หลายฝ่ายเชื่อว่าทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน

สำหรับการฟื้นตัวขึ้นมา 8.12 จุด จนSet Index กลับมายืนเหนือ 1,300 จุดอีกครั้ง นักวิเคราะห์เชื่อว่า เป็นแค่การรีบาวด์ทางเทคนิค รวมทั้งมีการเปิดเผยตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ขยายตัว 7% ดีกว่าที่ตลาดคาด ขณะเดียวกันอีกแรงสนับสนุมาจากความคาดหวังของนักลงทุนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยทิศทางหุ้นไทยสัปดาห์นี้ (24-28 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ประเมิน ทิศทางดัชนีหุ้นไทยใน มีแนวรับที่ 1,295 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,330 จุด และมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนของภาครัฐ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ (Flow)

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.ของจีน ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ของยูโรโซน

ส่องเศรษฐกิจโลกปี 2024-2025

เมื่อเร็วๆนี้ SCB EIC ได้ออกบทวิเคราะห์ เศรษฐกิจโลก 2024-2025 ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2024 และ 2025 มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงกันที่ 2.7% ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดยในปี 2024 SCB EIC มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี

ขณะที่เศรษฐกิจจีนปรับดีขึ้นเช่นกัน จากภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับอินเดียและอาเซียนขยายตัวดี ขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นเติบโตต่ำ

แต่สำหรับปี 2025 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป อาเซียนจะมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น อินเดียยังเติบโตสูงแม้จะชะลอเล็กน้อย ญี่ปุ่นและยูโรโซนฟื้นตัวดีขึ้นแต่ไม่สดใสนัก ขณะที่สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และจีนจะเติบโตต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

นั่นทำให้ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างของจีนและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศจะปรับสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งเกือบทั่วโลกในปีนี้ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและนโยบายการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกตามมา

โดยธนาคารกลางหลักหลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เช่น ECB และ BOC ขณะที่ Fed และ BOE จะเริ่มผ่อนคลายดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกันในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ BOJ มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหลัง BOJ ได้ปรับขึ้นคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง

เศรษฐกิจไทย 2024-2025

ขณะที่ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะทยอยฟื้นตัวไม่สูงนักที่ 2.5% โดยมีแรงส่งจากภาคบริการตามการฟื้นตัวได้ดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติม ทั้งมาตรการฟรีวีซ่าและ VOA รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้ง การท่องเที่ยวในประเทศยังเติบโตดี โดยจังหวัดเมืองรองมีแนวโน้มได้รับความสนใจมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันจาก 1.การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวจำกัดส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ผลไม้ และ HDD ที่จะหดตัวในปีนี้ 2.ภาคการผลิตที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาด เนื่องจากจีนมีปัญหา Overcapacity ในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง และ 3.การลงทุนภาครัฐที่แม้จะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ 

ส่วนในปี 2025 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติ

ศก.ไทยเผชิญความเปราะบาง

อย่างไรก็ตามมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยภาคครัวเรือน เนื่องจากกลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า เช่น เงินสำรองฉุกเฉินและประกันความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ

ขณะที่ภาคธุรกิจ แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเปราะบาง ไม่แน่นอน จากปัจจัยกดดันทั้งในประเทศต่างประเทศ โดยเฉพาะภาระหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือน (Household Debt) ที่ทรงตัวสูง, สัดส่วนหนี้สาธารณะ (Public Debt) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ถูกปรับระดับเพดานขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลโดยตรงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ช้าลงเรื่อยๆ รวมถึงความสามารถทาง การแข่งขันของไทยในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน พบว่า ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยลดลง อย่างมีนัยสำคัญ ความเพียงพอลดลงอย่างมาก สะท้อนจากช่วง 1-2 ปีก่อนประชาชนที่มีฐานรายได้ 4 หมื่นบาทต่อเดือน มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัวอย่างเพียงพอ แต่ ณ ปัจจุบันประชาชนที่มีฐานรายได้ 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่เพียงพอในการ จับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว เนื่องจาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นั่นเพราะการเมืองไทยยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการบริหารประเทศ ภาคเอกชนไทย รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศก็เลือกที่จะชะลอการลงทุนออกไป หรือพิจารณาย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศที่มีนโยบายการบริหารประเทศที่ชัดเจน และสนับสนุนการลงทุน

"การที่มีสัดส่วนหนี้สินที่สูงมาก ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงวิกฤติ เพราะประชาชน ไม่สามารถกู้เงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องได้ง่าย ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว แต่การค้าโลกยังไม่ฟื้น เมื่อเอกชนไม่ลงทุน รัฐบาลเองก็ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ 100% เม็ดเงินก็หายออกไปจากระบบเศรษฐกิจทั้งเงินเดือน และเงินจับจ่ายใช้สอยทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเผชิญความเปราะบางมากยิ่งขึ้น"

ทำให้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ลงมาที่ 2.5% จากเดิมที่ 2.7% เนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ มีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างภูมิภาคที่เริ่มกลับมาชัดเจนขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเริ่มกระทบเศรษฐกิจในระยะสั้น และจะกระทบต่อเนื่องถึงระยะยาว

 คาด กนง.ปรับลดดบ. 1 ครั้งนี้

ทั้งนี้ SCB EIC มีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 2024 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 2025 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าลงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตลาด ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย สำหรับ ณ สิ้นปี 2024 มองเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ไทยได้เปรียบจากบทบาที่เป็นกลาง

ขณะเดียวกัน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในโลก และยิ่งเร่งโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) แต่จะเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยได้ SCB EIC ประเมินว่า รูปแบบการค้าโลกกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้ากันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น ประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบต่างกันใน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือมีการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ และอุปกรณ์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ไทยจะคว้าโอกาสท่ามกลางโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวธุรกิจเชิงรุก ซึ่งจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

2.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

3.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

4.กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน

คาดครึ่งปีหลังหุ้นไทยดีขึ้น

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินทิศทางความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 (2H67) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนขาขึ้น โดยมีแนวรับที่ 1,280 จุด นั่นเพราะหนุนจาก

1.การลงทุนภาครัฐบาลที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสามารถขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา

2.ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในประเทศก็จะเริ่มคลี่คลายลง รวมถึงอัตรา “กำไรต่อหุ้น” (Earnings Per Share : EPS) เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Earning Yield Gap) มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

3.ตลาดหลักทรัพย์จะเริ่มใช้ Uptick ซึ่งจะชะลอการขายชอร์ต (Short Sell) ลดความผันผวนของดัชนีฯ
และ

4.การเริ่มลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long – Term Equity Fund : LTF)

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มเร่งตัวแตะระดับสูงสุดที่ 1450 จุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 (1H68) พร้อมกันนี้แนะนำนักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจ – การค้าโลกที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

อาทิกลุ่มส่งออกอาหาร อาทิ TU ราคาเหมาะสม 16.90 บาท, อาหารสัตว์ อาทิ AAI ราคาเหมาะสม 6.30 บาท, กลุ่มการแพทย์ อาทิ BDMS ราคาเหมาะสม 33.10 บาท, กลุ่มที่ลงทุนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์, รวมถึงกลุ่มหุ้นที่มีรายได้จากต่างประเทศ อาทิ โรงกลั่น เช่น TOP SPRC และกลุ่มเรือ เช่น PSL เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น