ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าไปชมงาน AP Thailand Presents "CREATIVE TALK CONFERENCE 2024 (CTC2024) และได้เข้าร่วมรับฟังประสบการณ์การบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (แบบลึก) ที่หาฟังได้ยาก กับสไตล์การบริหารงานคุณ "อนุพงษ์ อัศวโภคิน" CEO บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้ ขึ้นสู่ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ ที่ปัจจุบันมีสินทรัพย์สูงถึง 86,100 ล้านบาท กับ SPECIAL SESSION "แอบฟัง CEO คุยกัน เคล็ดลับบริหารงาน ของ CEO ที่ไม่เคย บอกใคร"
เริ่มต้น CEO เอพีฯ ฉายภาพบริษัทจากจุดเริ่มต้นที่เอพีฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2001 มีพนักงานราว 100 คน มียอดขายไม่มากแค่ 1,000 ล้านบาท ว่า ระยะแรกก็เปรียบเหมือนฟุตบอล เราเป็นโค้ช ถ้าช่วงนั้นผู้เตะขาด คนขาด เราจะลงไปเล่น (หมายถึงทำงาน) บริษัทยังเล็ก ทุกบทบาทจะถูกวางให้หลวมๆ หนึ่งคนทำได้หลายอย่าง เพราะเราไม่มีปัญญาจ้างคนเยอะ
แต่เมื่อผ่านมา 10 ปี องค์กรใหญ่และเติบโตขึ้น มียอดขายเยอะขึ้น สัก 10 เท่า มีพนักงานเกือบๆ 1,000 คน ตอนนั้นเริ่มจะไม่รู้จักนักฟุตบอลทุกคนแล้ว เริ่มสงสัยพนักงานคนนี้ใคร!!
และมีเรื่องแปลก "มีครั้งหนึ่งจำได้เลย ยืนอยู่หน้าลิฟต์ ผมกำลังจะกลับบ้าน มีพนักงานมาทักผม (อนุพงษ์) พี่ๆ ทำงานชั้นนี้หรือคะ (คุณอนุพงษ์หัวเราะ) ช่วงนั้นยังไม่มีโควิด เปิดหน้าชัดๆ คุณอนุพงษ์ตอบ ครับ แล้วพี่อยู่มานานหรือยัง ผมก็ตอบไปว่า นานแล้วครับ อยู่ที่นี่นานมากครับ ทำให้ได้แง่คิดอย่างหลาย"
และในวันนี้ วันที่เอพีขึ้นสู่องค์กรที่ใหญ่ขึ้น มีพนักงานถึง 3,000 คน เราหันมาดูเรื่อง Culture (วัฒนธรรม หรือการปลูกฝัง) ขององค์กรมากขึ้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่การสร้าง Culture จะ Townhall จบครั้งเดียวไม่ได้ แต่ต้องย้ำๆๆ ตลอดเวลา
ดังนั้น เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้นต้องมีกฎในเรื่องของการตัดสินใจที่ชัดเจน ซึ่งการวัดผลงาน ไม่ได้วัดเรื่องความขยันเพียงอย่างเดียว แต่ดูเรื่องตรงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ พนักงานแฮปปี้ และเราก็แฮปปี้ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับ CEO เพียงคนเดียว แต่ต้องให้การตัดสินใจอยู่กับคนที่ใกล้ลูกค้ามากที่สุด คนที่อยู่หน้างาน เราฝึกให้เกิดการตัดสินใจ และผลลัพธ์ที่ออกมาด้วย
"จะเห็นได้ว่าเอพี ไทยแลนด์ ผ่าน 3 Stage (เวที) มาแล้ว และเมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น Culture จะมีความสำคัญมากกว่าเดิมอีก เพราะการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ จะเป็นตัวชี้วัด"
คุณอนุพงษ์ ยังให้แง่คิด CEO ต้องมีสุขภาพที่ดีว่า "สุขภาพที่ไปแล้วมันเอากลับมาไม่ได้ คนเราไม่มีเวลาโฟกัสได้นาน เราต้องหาเรื่องสนุกกับมันให้ได้"
และหนึ่งที่ทำให้เราไม่อยากตื่นมาทำงานเยอะที่สุดคือ ‘เบื่อคน’ ซึ่งอาจจะเกิดจากเราไม่ชอบเขา แต่กลับกันให้ลองถามว่า เราเอางานเป็นที่ตั้ง จะช่วยเรื่องนี้ได้
ดังนั้น "การเอาใจเขามาใส่ใจเรา โลกแห่งความเป็นจริงเรากลับมองสถานการณ์คนอื่น ด้วยการเอาตัวเองมาประเมิน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘คุณต้องฟังเขา’ เราต้องหา ‘Needs Objective Challenge’ คือ คุณไม่ได้เอาสถานการณ์ของเขามาประเมิน เราต้องดู ความต้องการ เพื่อดูว่าความท้าทาย หรือความต้องการของเขาจริงๆ มันคืออะไร"
คุณอนุพงษ์ ยังได้วิเคราะห์ยุคของ AI ว่า ต้องมองว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ซึ่ง AI เข้ามาช่วยทำให้ Productivity โต แต่จากประสบการณ์ที่ได้ยินมา จะถูกหรือผิดไม่แน่ใจ AI มา ทองคำอาจจะกลายเป็นขี้ หมายถึงคนเขียน Coding จะโดน AI แทนที่ แต่ AI ไม่ได้เก่งกว่าเรา แต่จะเก่งก็ต่อเมื่อเราตั้งคำถามให้ถูก มนุษย์เองจะตั้งคำถามอย่างไรให้ AI ทำงานได้มีประสิทธิภาพ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้พอที่จะตั้งคำถามที่ถูกต้องให้ AI ทำงาน เพราะตอนนี้ AI เองอาจจะยังไม่สามารถสร้างของใหม่ได้ แต่เน้นเอาสิ่งเก่าๆ ที่มนุษย์เคยสร้าง มาผสมกันตอบออกมาเป็นคำตอบ
"ความฉลาดของ AI วันนี้จริงๆ มันคือ Google ที่ล้วงข้อมูลได้ทั้งโลก แล้วเอามาแปลงเป็นภาษาแล้วตอบเรา (มนุษย์) แต่มันยังไม่มี ครีเอทีฟ ติ้งกิ้ง ผมนั่งดูหนังเรื่อง Terminator แล้ว วันนึง Terminator มีสำนึกขึ้นมา แล้วยิงจรวดล้างโลก แล้วบอกว่า ต้องฆ่าคนตายทั้งโลก ตรงนี้ AI ยังไม่มีสำนึก ถ้าสำนึกแย่แน่เลย AI มันยังทำอะไรไม่ได้ ที่ยังไม่มี หรือ สร้างของใหม่ให้เราได้ แต่ AI เก่งในเรื่องความจำ สมองคนเราจำอย่าง AI ไม่ไหว เราอย่าไปกลัว เพียงแต่เราต้องรู้ว่า AI คืออะไร และทำอย่างไรที่จะขับรถคู่ไปกับมันได้ อย่าปล่อยให้ AI เป็น Auto Pirot เราต้องเป็น Co-Pirot กับ AI เราต้องรู้เท่าทัน เราต้องชนะ ซึ่งทางเอพี ไทยแลนด์ ก็เอาเรื่อง AI มาสอนพนักงาน 3,000 คน ให้รู้ว่า AI คืออะไร หัวใจสำคัญคือ คนต้องรู้ว่า AI คืออะไร ถึงจะชนะเป็น ฝากนะครับ อย่าไปกลัว" คุณอนุพงษ์กล่าวทิ้งท้าย